กรมชลฯเร่งระบายน้ำท่วมขัง 11 จังหวัด พร้อมเฝ้าระวังฝนตกหนักภาคใต้

25 พ.ย. 2564 | 05:10 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2564 | 12:25 น.

กรมชลฯเร่งระบายน้ำท่วมขัง 11 จังหวัด พร้อมเฝ้าระวังฝนตกหนักภาคใต้

กรมชลประทาน เดินหน้าระบายน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ 11 จังหวัดอย่างต่อเนื่อง ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมเฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด 

จากอิทธิพลของพายุและร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตั้งแต่เดือนกันยายน จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ ในช่วงที่ผ่านมามี 53 จังหวัดทั่วประเทศประสบอุทกภัย ซึ่งกรมชลประทานได้รับมือสถานการณ์น้ำหลาก ทั้งการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน กำจัดวัชพืชขวางทางน้ำ ความพร้อมของเครื่องจักรเครื่องมือ ตลอดจนร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมขัง 11 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี และสตูล ทั้งนี้กรมชลประทาน ยังคงเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ปกติโดยเร็ว 

showcaption-false

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี – มูล ปัจจุบันระดับน้ำทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม่น้ำมูลที่สถานี M.7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,510 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวินาที มีแนวโน้มลดลง การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงยังเป็นไปด้วยดี จากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เขื่อนปากมูล ยังต่ำกว่าแม่น้ำมูลประมาณ 4.70 เมตร ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่สะพานพิบูลมังสาหาร(แก่งสะพือ) อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อเร่งระบายน้ำแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น 100 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีก 77 เครื่อง ระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานี จะเริ่มต่ำกว่าตลิ่งในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเหลือ  674 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ในขณะที่สถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 926 ลบ.ม.ต่อวินาที ในขณะที่ยังคงเหลือน้ำในทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาประมาณ 1,335.58 ล้าน ลบ.ม.  ปัจจุบันระบายน้ำออก 71.97 ล้าน ลบ.ม. ต้องระบายน้ำออกอีก 787.28 และจะเก็บกักน้ำไว้ในทุ่งประมาณ 548.30 ล้าน ลบ.ม. หรือระดับน้ำเฉลี่ย 0.30 เมตร เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป ส่วนปริมาณน้ำที่ระบายจากพื้นที่ลุ่มต่ำ จะเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านสถานีสูบน้ำ(สน.)ริมแม่น้ำต่างๆ อาทิ สน.พระยาบรรลือ สน.พระพิมล สน.มหาสวัสดิ์ สน.มหาชัย สน.สิงหนาท2 สน.พระอุดม และสน.บางบัวทอง เป็นต้น  

ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน ปัจจุบันการระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีน ยังคงเป็นไปได้ช้า เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ยังคงมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำได้รับส่งผลกระทบในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม กรมชลประทาน ได้ลดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน ด้วยการผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวม 402 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 70 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 127 เครื่อง เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง ให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็ว คาดว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีนจะเริ่มคลี่คลายลดลงต่ำกว่าตลิ่งประมาณกลางเดือนธันวาคม 2564

ทั้งนี้กรมชลประทานยังคงเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำทางภาคใต้อย่างใกล้ชิด จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่แจ้งเตือนฝนตกหนักในช่วงนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับการเพิ่มศักยภาพในการระบายในลำน้ำต่างๆ  ในพื้นที่เสี่ยง 8 จังหวัด บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ตรัง และสตูล ให้พร้อมรับน้ำฝนที่จะตกลงมาเพิ่ม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากน้ำที่อาจล้นตลิ่งในพื้นที่เสี่ยงได้ ตลอดจนเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือให้พร้อมใช้งานได้ทันที