สงครามยืดเยื้อในยูเครน บั่นทอนเสถียรภาพพลังงานโลก

23 มิ.ย. 2565 | 01:30 น.

สงครามยืดเยื้อในยูเครน บั่นทอนเสถียรภาพพลังงานโลก

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อต่อเนื่องสู่ไตรมาส 2 ของปี 65 ผลักดันราคาน้ำมันดิบโลกให้ยืนอยู่ในระดับสูง โดยราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยเดือน พ.ค. 65 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 65 ถึง 13.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 111.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากนานาประเทศคว่ำบาตรรัสเซียด้านพลังงานในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งการส่งออกน้ำมัน และประกันภัยเรือบรรทุกน้ำมัน นิติบุคคล การค้า การเงิน รวมทั้งตัดธนาคารบางแห่งของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) ตอบโต้ที่รัสเซียก่อสงครามรุกรานยูเครน การส่งออกน้ำมันและธัญพืชที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สู่ตลาดโลกชะงักงัน นำไปสู่ความเสี่ยงว่าจะเกิดวิกฤตด้านอาหารและพลังงาน ผลักดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น
 

ก่อนเกิดสงครามรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ โดยผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทในปี 2564 อยู่ที่ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่ 6.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ชาติตะวันตกและพันธมิตรพยายามคว่ำบาตรและหลีกเลี่ยงการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย หันไปนำเข้าจากแหล่งอื่นทดแทน ผลักดันให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
 

ประเทศสมาชิก International Energy Agency (IEA) นำโดยสหรัฐฯ ตัดสินใจร่วมกันระบายน้ำมันจากคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves: SPR) ปริมาณรวม 282 ล้านบาร์เรล ระหว่างเดือน เม.ย. – ต.ค. 65 โดยปริมาณ 190 ล้านบาร์เรล จะมาจากการระบายของสหรัฐฯ

สงครามยืดเยื้อในยูเครน บั่นทอนเสถียรภาพพลังงานโลก

EU imposed sanctions on Russia Source: Reuters (8 Jun.’22)

นอกจากนี้ วันที่ 2 มิ.ย. 65 กลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) เห็นพ้องเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบ 6.48 แสนบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. - ส.ค. 65 ซึ่งสูงกว่าข้อตกลงเดิมที่เพิ่มการผลิต 4.32 แสนบาร์เรลต่อวัน ถึงเดือน ก.ย. 65 อย่างไรก็ดี OPEC+ ยังไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ตามกรอบโควตาที่เพิ่มขึ้น โดย S&P Global Platts รายงานว่ากลุ่ม OPEC+ ผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 65 ที่ 37.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าโควตาถึง 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 

หลังจากสงครามมีทีท่ายืดเยื้อ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อสูง ทางธนาคารโลก (World Bank) จึงปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกในปี 2565 จากเดิมที่ประเมินว่า GDP โลกจะขยายตัว 4.1% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่เติบโตเพียง 2.9% จากปีก่อนหน้า ซึ่งชะลอตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 64 ที่เติบโตถึง 5.7% จากปีก่อนหน้า
 

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (Quantitative Easing) และจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ถึงแม้จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ตาม โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI ใช้บ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ) เดือน พ.ค. 65 อยู่ที่ 8.6% จากปีก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 41 ปี และในปี 65 นี้ Fed ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้ง รวม 1.5% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% - 1.75% และตลาดคาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงระดับ 3.25% - 3.5% ภายในสิ้นปี 65

นอกจากนี้ จีนยังเผชิญหน้ากับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการ Lockdown ครั้งใหญ่ที่เมือง Shanghai ศูนย์กลางอุตสาหกรรม การค้า และการเงิน ตั้งแต่ 28 มี.ค. 65 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการคุมเข้มขั้นสูงสุดตามนโยบายผู้ติดเชื้อ COVID-19 เป็นศูนย์ (Zero-COVID) ของประธานาธิบดี Xí Jìnpíng โดย Energy Aspects คาดการณ์ว่าการ Lockdown ครั้งใหญ่ของจีนนี้จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศลดลง 0.67 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาส 2 ของปี 65 จากระดับปกติที่ 14.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลง
 

ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันราคาน้ำมันโลก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาน้ำมันยังคงทรงอยู่ในระดับสูง หลังสหภาพยุโรป (EU) ประกาศมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซียอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 มิ.ย. 65 โดยให้ชาติสมาชิกยุติการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียที่ขนส่งทางเรือสู่ยุโรปภายใน 6 เดือน และยุติการซื้อนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียภายใน 8 เดือน รวมถึงคว่ำบาตรเรือบรรทุกน้ำมันรัสเซีย และการประกันภัย โดยให้เวลา 6 เดือนในการยกเลิกสัญญาการจ้างเรือที่มีอยู่ ทั้งนี้ ยังคงชะลอการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียที่ขนส่งผ่านท่อสู่ยุโรปเพื่อยกเว้นให้ประเทศสมาชิกที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อาทิ ฮังการี สโลวาเกีย และสาธารณรัฐเช็ก เพื่อปรับปรุงการผลิตและการขนส่งน้ำมันของประเทศ

สงครามยืดเยื้อในยูเครน บั่นทอนเสถียรภาพพลังงานโลก

War in Ukraine Source: Reuters (11 Jun.’22)
 

มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียครั้งใหญ่ดังกล่าวสร้างความกังวลว่าอุปทานน้ำมันของรัสเซียจะลดลงถึง 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในวันที่ 8 มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 123.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 เดือน อย่างไรก็ดี อุปทานน้ำมันของรัสเซียอาจไม่ลดลงตามที่ตลาดกังวล จาก Interfax รายงานว่ารัสเซียผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 65 เพิ่มขึ้น 1% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 10.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกสู่เอเชียเพิ่มขึ้น โดย Kpler รายงานอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียในเดือน พ.ค. 65 เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากเดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ 8.4 แสนบาร์เรลต่อวัน และประเมินว่าอินเดียจะนำเข้าเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. 65
 

ตลาดน้ำมันโลกยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในฤดูขับขี่ท่องเที่ยวของสหรัฐฯ เริ่มต้นวัน Memorial Day ในวันที่ 30 พ.ค. 65 จนถึงวันแรงงานของสหรัฐฯ วันที่ 5 ก.ย. 65 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดย American Automobile Association (AAA) ของสหรัฐฯ คาดการณ์ประชาชนเดินทางในวันหยุด Memorial Day เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 34.9 ล้านราย และราคาขายปลีก Gasoline วันที่ 8 มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 4.955 เหรียญสหรัฐฯ ต่อแกลลอน (ประมาณ 45 บาทต่อลิตร) โดย Goldman Sachs คาดการณ์ราคาขายปลีก Gasoline ของสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นถึง 6.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อแกลลอน (ประมาณ 57 บาทต่อลิตร) ในเดือน ส.ค. 65

สงครามยืดเยื้อในยูเครน บั่นทอนเสถียรภาพพลังงานโลก

COVID-19 lockdown in China Source: Reuters (14 Apr.’22)

ภายใต้สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลง กระตุ้นให้นานาประเทศเดินหน้าคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อตอบโต้การกระทำที่รุนแรง รวมทั้งลิดรอนความแข็งแกร่งทางทหารและการเมืองของรัสเซีย ทำให้โลกมีความเสี่ยงที่อุปทานน้ำมันจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่กำลังฟื้นฟูขึ้นต่อเนื่อง ผลักดันให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มที่จะยืนอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยทีม PRISM ของกลุ่ม ปตท. คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Dubai ในไตรมาส 3 ปี 65 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 113 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (เทียบกับไตรมาส 2 ซึ่งอยู่ที่ 108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล)
 

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ
หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ 
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)