เป็นที่รู้กันว่าประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ เพื่อเข้าโรงกลั่นน้ำมัน ผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูปสำหรับใช้ในประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยมี 6 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจกลั่นน้ำมัน ได้แก่ บริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จํากัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จํากัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน)
การกลั่นน้ำมันถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน ใช้เงินลงทุนสูง ทั้งต้องรับความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ขึ้นลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันยังต้องสต๊อกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปตามที่กฎหมายกำหนด โดยโรงกลั่นต้องสั่งซื้อน้ำมันดิบล่วงหน้า เพราะใช้เวลาขนส่งนาน รวมถึงต้องสั่งปริมาณมากให้เพียงพอกับการใช้งาน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
ด้วยระยะเวลาในการขนส่งจากประเทศต้นทางมายังประเทศไทยใช้เวลานาน ประกอบกับน้ำมันดิบต้องถูกเก็บในถังพัก รอเข้าคิวกลั่นอีก ดังนั้นกว่าน้ำมันดิบแต่ละล๊อตจะถูกนำเข้ากระบวนการกลั่นก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน ทำให้ราคาน้ำมัน ณ ตอนที่ซื้อมากับช่วงเวลาที่นำเข้ากลั่นไม่ตรงกัน การนำราคาน้ำมันดิบในแต่ละวันมาเทียบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในวันนั้นๆ เพื่อคิดเป็นกำไรขั้นต้นของโรงกลั่น จึงเป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นอกจากนี้ การซื้อขายน้ำมันดิบจะใช้เงินเหรียญดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ขณะที่น้ำมันสำเร็จรูปซึ่งจำหน่ายในประเทศ จะเป็นสกุลเงินบาท ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อต้นทุนการกลั่นน้ำมัน เช่นเดียวกัน
มาถึงกระบวนการกลั่น น้ำมันดิบที่ใช้ในแต่ละโรงกลั่น ต้องมีส่วนประกอบและคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการใช้งาน โดยการกลั่นน้ำมัน จะได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา ยางมะตอย ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์มีราคาที่แตกต่างกัน บางชนิดก็มีราคาสูงกว่าน้ำมันดิบ ในขณะที่บางชนิดก็มีราคาต่ำกว่าน้ำมันดิบ อีกทั้ง ปริมาณของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ได้ จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของน้ำมันดิบ และเทคโนโลยีที่ใช้ของแต่ละโรงกลั่น โดยน้ำมันดิบแต่ละแหล่ง ก็จะกลั่นได้ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดในสัดส่วนที่แตกต่างกัน และเอาเข้าจริงแล้ว โรงกลั่นก็ไม่สามารถกลั่นน้ำมันดิบออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้จำนวนเต็ม 100% เพราะมีน้ำมันบางส่วนต้องใช้ในกระบวนการผลิต บางส่วนระเหยหายไป บางส่วนต้องเผาทิ้ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
หากดูรายละเอียดของต้นทุนโรงกลั่นในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เราใช้ ซึ่งช่วยลดการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศนั้น จะมีต้นทุน แบ่งได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ต้นทุนวัตถุดิบ มาจากราคาน้ำมันดิบ ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย 2.ต้นทุนการผลิต ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง ค่าสารเคมี ค่าน้ำไฟ และ 3.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าดำเนินการ ค่าแรง ค่าเสื่อม ค่าบำรุงรักษา ดอกเบี้ย ภาษี เป็นต้น ส่วนที่เรียกกันว่า “ค่าการกลั่น” ( Gross Refining Margin : GRM ) นั้น เป็นการคำนวณจากส่วนต่างราคาเฉลี่ยของน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิด หักลบกับต้นทุนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิต โดยยังไม่ได้หักส่วนของค่าใช้จ่ายอื่นๆ จึงเป็นเพียงกำไรขั้นต้นเท่านั้น ซึ่งการหากำไรสุทธิจริงๆ ของโรงกลั่นต้องนำต้นทุนทุกอย่างทั้ง 3 ส่วนมาหักลบ รวมถึงกำไรหรือขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงด้านราคา (Hedging) และสต๊อกน้ำมันอีกด้วย
แล้วโรงกลั่นเป็นเสือนอนกินได้กำไรสูงตลอดเวลาหรือไม่ ต้องบอกว่าโรงกลั่นไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาซื้อขายของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งราคาจะผันผวนไปตามกลไกลตลาด และสถานการณ์โลก ดังนั้น โรงกลั่นจึงต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงตลอดช่วงอายุ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563 ซึ่งความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลงอย่างมาก โรงกลั่นจึงขาดทุนสต๊อกมหาศาล นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านราคา โรงกลั่นยังต้องมีการปรับปรุงโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นต่างๆ ในภูมิภาคได้ และเพื่อให้สอดคล้องตามกฎระเบียบของภาครัฐ ในการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งการลงทุนแต่ละครั้งก็ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากยกตัวอย่างเช่น การลงทุนผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ให้ได้น้ำมันสำเร็จรูปที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โรงกลั่นต้องใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ที่อ้างอิงตามราคาสิงคโปร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมันเท่านั้น โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปยังประกอบไปด้วยส่วนอื่นๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ค่าการตลาด และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกวันนี้ มาจากปัจจัยทั้งภาวะสงครามจากรัสเซียและยูเครน การฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 และอุปสงค์และอุปทานของภูมภาคโดยรอบ ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นเป็นการชั่วคราว ไม่เฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น แต่กระทบกับผู้ใช้พลังงานทั่วโลกอย่างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย กลไกตลาดจะทำให้ราคาพลังงานกลับสู่สภาวะปกติ การตื่นตัวทางด้านราคาพลังงาน จึงควรมาพร้อมกับความร่วมมือร่วมใจกันใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด