“เข้าสู่ยุควิกฤตพลังงาน” ทั่วโลกเปิดโหมดประหยัดไทยชูกลยุทธ์ 4 ป 3 ช สู้

09 ก.ย. 2565 | 08:24 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2565 | 15:27 น.

“เข้าสู่ยุควิกฤตพลังงาน” ทั่วโลกเปิดโหมดประหยัดไทยชูกลยุทธ์ 4 ป 3 ช สู้

ปัจจุบัน วิกฤตพลังงานกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย รวมถึงความคุกรุ่นของสถานการณ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่พร้อมปะทุ นอกจากนี้ล่าสุดรัสเซียยังประกาศระงับการจัดส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ด สตรีม 1 ให้กับยุโรป ไปจนกว่าชาติตะวันตกจะยกเลิก มาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้กับรัสเซียและบริษัทรัสเซีย ยิ่งตอกย้ำวิกฤตทางด้านพลังงานให้ยกระดับเพิ่มสูงขึ้น
 

เมื่อวิกฤตพลังงานมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศทั่วโลกจึงต้องประกาศใช้แผนฉุกเฉินทางด้านพลังงาน และพร้อมที่จะเปิดโหมดประหยัดพลังงานทุกรูปแบบ เพื่อฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้  โดยใช้พลังของประชาชนในการขับเคลื่อนประเทศให้อยู่รอดได้ในครั้งนี้

ประหยัดพลังงานแบบ 4 ป 3 ช

สำหรับประเทศไทยที่นำโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ล่าสุดได้ออกแคมเปญ "ทราบแล้วเปลี่ยน" ที่เชิญชวนให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานที่ไม่ใช่การประหยัดเพื่อชาติ แต่เพื่อตนเองด้วยกลยุทธ์ 4 ป 3 ช

โดย 3 ป จะประกอบด้วย

  1. ปิดไฟ โดยให้ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น และเปลี่ยนมาใช้หลอด LED
  2. ปรับแอร์ ซึ่งเป็นการตั้งอุณหภูมิแอร์ไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส
  3. ปลดปลั๊ก โดยการถอดปลั๊กเมื่อไม่ได้ใช้งาน
  4. เปลี่ยนเบอร์ 5 โดยเลือกใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานตามฉลากประหยัดไฟ

ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์ 4 ป จะสามารถช่วยประหยัดไฟได้ถึง 10% ขณะที่ 3 ช ได้แก่

  1. เช็กรถ โดยหมั่นตรวจเช็กสภาพรถเป็นประจำ ซึ่งรถยิ่งเก่ายิ่งทำให้เปลืองน้ำมัน
  2. ชัวร์เส้นทาง โดยวางแผนการเดินทางขับรถด้วยความเร็วคงที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  3. ใช้รถสาธารณะ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่าน้ำมันได้มากกว่าการใช้รถส่วนตัว

โดยกลยุทธ์ 3 ช จะช่วยให้ประหยัดน้ำมัน

อิตาลีร่างแผนประหยัดพลังงานในสภาวะฉุกเฉิน

ประเทศอิตาลีเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม รัฐบาลได้มีการประกาศว่ากำลังร่างแผนประหยัดพลังงานในสภาวะฉุกเฉิน (Emergency Savings Plan) ซึ่งประกอบด้วยมาตรการการจำกัดการเปิดเครื่องทำความร้อนที่อุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว และเปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน ลดการเปิดไฟฟ้าริมถนนในเวลากลางคืน และปิดร้านค้าก่อนเวลาปกติ  โดยการลดอุณหภูมิความร้อนของฮีตเตอร์ภายในอาคารลง 1 องศาเซลเซียส สามารถประหยัดก๊าซได้ถึง 2 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
 

ประเทศฝรั่งเศสที่พึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย 1 ใน 5 ดังนั้นจึงประกาศแผนพลังงาน "Energy Sobriety" ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินการร่างแผนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เกิดมาตรการประหยัดพลังงานในฝรั่งเศสโดยตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานลง 10% เมื่อเทียบกับปี 2019 ภายในปี 2024 โดยรัฐบาลออกมาตรการประหยัดพลังงานโดยให้ห้างร้านต่างๆ ร่วมมือกันปิดประตูเข้า-ออก ในขณะเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อน และห้ามเปิดใช้ป้ายโฆษณาที่ใช้ไฟฟ้าส่องสว่างในทุกเมืองระหว่างช่วงเวลา 1.00 น. ถึง 6.00 น. ซึ่งเป็นมาตรการที่บังคับใช้กับเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 800,000 คน

 

เยอรมนี - สเปนจำกัดอุณหภูมิเครื่องทำความร้อน    

ประเทศเยอรมนี รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการประหยัดพลังงานสำหรับช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะจำกัดการใช้ไฟฟ้าภายในอาคารสาธารณะ และอาคารสำนักงานต่างๆ โดยขอให้ปิดเครื่องทำความร้อนในห้องที่ไม่มีคนใช้งาน โดยนับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป อาคารสาธารณะที่นอกเหนือจากโรงพยาบาลจะต้องจำกัดอุณหภูมิเครื่องทำความร้อนอยู่ที่ 19 องศาเซลเซียส นอกจากนั้น ในบริเวณโถงทางเดินจะงดใช้เครื่องทำความร้อนอย่างสิ้นเชิง ซึ่งระบบทำความร้อนสำหรับสระว่ายน้ำจะถูกระงับเช่นกัน นอกจากนี้ กรุงเบอร์ลินยังระงับใช้กฎระเบียบสำหรับการเช่าที่พักอาศัย ที่เดิมเคยกำหนดอุณหภูมิต่ำสุดที่สามารถใช้ในอพาร์ทเม้นท์ต่างๆ เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน โดยเยอรมนีจะหันมาใช้ถ่านหินสำหรับเป็นพลังงานของรถทดแทนการใช้น้ำมัน
 

ขณะที่ประเทศสเปน ได้ออกมาตรการให้ธุรกิจต่างๆ ลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศลงให้ไม่ต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน และเปิดใช้เครื่องทำความร้อนที่อุณหภูมิไม่เกิน 19 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว รัฐบาลยังขอความร่วมมือให้ร้านค้าติดตั้งระบบล็อคอัตโนมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้ประตูเปิดทิ้งไว้ในขณะที่ระบบทำความร้อนทำงาน และขอความร่วมมือประชาชนลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา 22.00 น. เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวสามารถลดความต้องการการใช้ก๊าซและน้ำมันลงได้ในระยะสั้นเท่านั้น

 

จีนออกมาตราการรายพื้นที่

ประเทศจีนออกมาตรการประหยัดพลังงานในเขตพื้นที่ต่างๆ ประกอบด้วย การขยายเวลามาตรการปันส่วนไฟฟ้าและการประหยัดไฟเพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับครัวเรือนในบางพื้นที่ของประเทศ นครฉงชิ่ง (ประชากร 32 ล้านคน) สั่งให้ห้างสรรพสินค้าจำกัดเวลาเปิด - ปิดการให้บริการเหลือเพียงในช่วงเวลา 16.00 น.-21.00 น. เพื่อลดการใช้ไฟฟ้า มณฑลเสฉวน (ประชากร 94 ล้านคน) สั่งปิดโรงงานส่วนใหญ่เพื่อประหยัดไฟฟ้านาน 6 วัน นอกจากนี้ยังมีการปิดเครื่องปรับอากาศ ลิฟต์ และไฟในสำนักงานและห้างสรรพสินค้าอีกด้วย ด้านนครเซี่ยงไฮ้ ปิดไฟประดับบริเวณ เดอะ บันด์ ที่เป็นจุดชมวิวและทางเดินเลียบแม่น้ำหวงผู่ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญเพื่อประหยัดพลังงาน

“เข้าสู่ยุควิกฤตพลังงาน” ทั่วโลกเปิดโหมดประหยัดไทยชูกลยุทธ์ 4 ป 3 ช สู้