ธปท.ห่วงข้อมูลผู้ทำธุรกรรมรั่วไหลเป็นอุปสรรคเศรษฐกิจดิจิทัล

28 เม.ย. 2565 | 07:42 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 14:57 น.

4 องค์กร “ ธปท.-ก.ล.ต.-คปภ. -สคส.” บันทึกMOUร่วมมือ “ดูแลนโยบาย กระบวนการกำกับ แลกเปลี่ยน/พัฒนาบุคลากรและผู้ใช้บริการทางการเงินหวังผลสัมฤทิธิ์คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ธปท.ห่วงข้อมูลผู้ทำธุรกรรมรั่วไหลเป็นอุปสรรคเศรษฐกิจดิจิทัล

4หน่วยงานกำกับดูแลภาคธุรกิจการเงิน “ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคธุรกิจการเงินเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา พบมีข้อมูลรั่วไหลสูงถึง 2.27 หมื่นล้านรายการ ในจำนวนดังกล่าวเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีชื่อผู้ทำธุรกรรมรั่วไหลประมาณ 65% ซึ่งข้อมูลที่รั่วไหลอาจกระทบความเชื่อมั่นภาคุรกิจ ประชาชนในการเปิดเผยข้อมูล  และเป็นอุปสรรคการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ การสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในระยะต่อไปที่ ธปท. มีนโยบายที่จะปรับภูมิทัศน์ในภาคการเงินให้เปิดกว้างขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจการเงินนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดการให้บริการ ควบคู่ไปกับการดูแลความเสี่ยงและการมีธรรมาภิบาลของการใช้ข้อมูลที่สอดรับกับเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1มิถุนายน 2565

“ ความร่วมมือครั้งนี้ ช่วยให้การกำกับดูแลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคการเงินมีความสอดคล้องกัน ไม่ทับซ้อน ช่วยลดภาระหรือต้นทุนให้แก่ทั้งผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน ให้สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาภาคการเงินและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ราบรื่น ภายใต้การกำกับดูแลที่ไม่ทับซ้อน และไม่เป็นภาระต้นทุนกับภาคธุรกิจและประชาชน”

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า  ที่ผ่านมา 2ปีนั้น ธปท.และหน่วยงานกำกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยกระดับผู้ประกอบการให้มีความพร้อมและเข้าใจร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่อง  แต่ยอมรับว่ายังมีความกังวล ใน2 ส่วน คือ 1.ผู้ประกอบการมีความพร้อมไม่เท่ากัน และมีความเกี่ยวข้องกันกับหลายภาคส่วน แต่ต้องทำให้การเชื่อมต่อธุรกรรมร่วมกัน  และ 2.ความพร้อมของลูกค้าในแง่ความเข้าใจในกฎหมายPDPA และการดูแลข้อมูลตัวเอง  จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

ส่วนการรั่วไหลของข้อมูลนั้น มองว่าในช่วงที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลให้กันโดยง่าย ทำให้ข้อมูลที่มีอยู่มากมายกระจัดกระจาย ซึ่งกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้การจัดเก็บข้อมูลมีกรอบและเป็นระเบียบมากขึ้น 

 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ประธานสักขีพยาน ในการบันทึกข้อตกลงMOUของ 4 องค์กร กล่าวว่า “การคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการผลักดันเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

กฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในชุดกฎหมายดิจิทัลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมในการใช้บริการออนไลน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยและเป็นธรรม ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคธุรกิจการเงินขึ้น

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า จากการสำรวจความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล เมื่อเดือนมีนาคม 2565 พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจมีความตื่นตัวในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและได้ดำเนินการตามข้อกำหนดต่าง ๆ ไปมากกว่า 90% แล้ว ส่วนใหญ่มั่นใจว่าจะแล้วเสร็จก่อน พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ มีผลใช้บังคับ

ดังนั้น ก.ล.ต. เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือของ 4 องค์กรในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในภาคการเงินและสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานเทคโนโลยี รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

 

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า “ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่มีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประกอบการดำเนินธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้สนับสนุนการพิจารณารับประกันภัย การปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย และการให้บริการลูกค้า

 

สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ การออกแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันวินาศภัยและผู้ประเมินวินาศภัย การประเมินความพร้อมในด้านองค์กรด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย และด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับภาคธุรกิจประกันภัย โดยความร่วมมือตาม MOU ฉบับนี้ จะสนับสนุนการกำกับดูแลด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านการเงินให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป”

 

ดร. เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เป็นกลไกสำคัญทำให้ประชาชนสามารถรับทราบวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บ การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดแจ้ง  และมีสิทธิต่างๆ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของตน ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ  และองค์กรเอกชนมีมาตรฐานการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้สามารถดำเนินการและทำธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูลได้อย่างมั่นใจว่าถูกต้องตามกฎหมาย 

 

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สอดคล้องหลักการสากลและได้รับการยอมรับในการทำธุรกิจการค้าจากนานาชาติ รวมทั้งสามารถสร้างสังคมที่เข้มแข็ง เนื่องจากสามารถตรวจสอบการดำเนินงานภาครัฐและภาคธุรกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความถูกต้องเหมาะสมได้”