นายพงษ์ศักดิ์ ฤทธิสมิต ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 13 กล่าวว่า ปัจจุบันจ.กาญจนบุรีมีพื้นที่ภัยแล้งที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเรียกว่า “อีสานของจังหวัดกาญจนบุรี” ครอบคลุม 5 อําเภอใน จ.กาญจนบุรี คือ อ.บ่อพลอย อ.หนองปรือ อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญและอ.พนมทวน ล่าสุด ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลางได้ลงพื้นที่เพื่อแนะนำแนวทางแก้ปัญหาและติดตามเร่งรัดโครงการต่างๆที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากรัฐบาลมีความเป็นห่วงพื้นที่ดังกล่าวจะขาดแคลนน้ำทั้งน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อทำการเกษตร จึงสั่งการให้แก้ไขภัยแล้งซ้ำซากอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนช่วงหน้าแล้ง
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ดังกล่าวแบบยั่งยืน กรมชลประทานได้วางแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี 2 โครงการเล็กและขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ปริมาณน้ำที่ผันทั้งหมด 256.5 ล้าน ลบ.ม./ปี (ผันและส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงทั้งหมด) แบ่งเป็นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภครวม 2.0 ล้าน ลบ.ม./ปี และปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรกรรม 254.5 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 486,098 ไร่ ครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ 53,810 ครัวเรือน รายได้ต่อครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 90,449 บาท/ปี ความก้าวหน้าของโครงการขณะอยู่ระหว่างการจัดทำคำชี้แจงคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ และ2.โครงการสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่ พื้นที่รับประโยชน์ในเขตอำเภอบ่อพลอยและตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรี ปริมาณน้ำที่ผันทั้งหมด 27.3 ล้าน ลบ.ม./ปี ผลประโยชน์ประมาณน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 0.63 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และบรรเทาความขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรในพื้นที่ 78,508 ไร่ มีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 21,659 ครัวเรือน รายได้ต่อครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 19,001.12 บาท/ปี ปี ความก้าวหน้าอยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโดยกรมชลประทาน
นอกจากนี้ในพื้นที่ 5 อำเภอดังกล่าวยังมีแผนงานสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อีก 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการอ่างเก็บน้ำลำตะเพินบนพร้อมระบบผันน้ำ พื้นที่รับประโยชน์รวม 42,000 ไร่ (อ.หนองปรือ เลาขวัญและ อ.ห้วยกระเจา) 2.โครงการขยายความจุอ่างเก็บน้ำลำอีซู พื้นที่รับประโยชน์ 5,000 ไร่ (อ.บ่อพลอย) และ 3.โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำอาคารประกอบคลองท่าล้อ-อู่ทอง พื้นที่รับประโยช์รวม 149,500 ไร่ ซึ่งดำเนินการพัฒนาโครงการมาอย่างต่อเนื่องปัจจุบันสามารถพัฒนาพื้นที่ไปได้แล้ว 35,000 ไร่ (อ.พนมทวนและ อ.ห้วยกระเจา) โดยแต่โครงการหากดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนงานจะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จ.กาญจบุรีแบบยั่งยืนได้อย่างแน่นอน
“นอกจากการเร่งรัดโครงการต่างๆแล้ว สำนักงานชลประทานที่ 13 ยังให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนให้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่และมาตรการบริหารจัดการของภาครัฐ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอีกด้วย” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว