หนี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ถือเป็นปัญหาที่ทางสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด จังหวัดงขลาได้มุ่งมั่นหาทางช่วยเหลือสมาชิก จากเดิมเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าว เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงปีละครั้ง บางรายอาจทำตาลโตนดร่วมด้วย ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน มักประสบปัญหาผลผลิตเสียหายจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้ตามปกติ
ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีภาระหนี้สิน สหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด จึงได้ส่งเสริมการปลูกพืชผักระยะสั้น ได้แก่ แตงกวา พริก มะเขือ ฟักทอง เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มตลอดทั้งปี สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา
นางมาลินี พานิชกรณ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด เล่าว่า สมาชิกของสหกรณ์การเกษตรสทิงพระมีอาชีพหลักคือการทำนา ซึ่งทำได้ปีละครั้ง จากอำเภอสทิงพระไม่มีระบบชลประทานจึงต้องอาศัยน้ำฝนในการทำนาอย่างเดียว ทำให้สมาชิกเกิดภาวะการขาดทุน จากราคาข้าวส่วนใหญ่มีราคาตกต่ำ ซึ่งจากการที่ฝ่ายจัดการและคณะกรรมการของสหกรณ์ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกร ทำให้รับทราบปัญหาและนำมาแก้ไขอย่างเร่งด่วน มีการสนับสนุน “โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ แก้หนี้แก้จน” ให้กับสมาชิก ด้วยการสนับสนุนให้ปลูกพืชระยะสั้นเพื่อเสริมรายได้
นายนิกูล นพรัตน์ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด เผยว่า ทางสหกรณ์ฯได้ให้แนวทางในการปลูกพืชระยะสั้น เพื่อให้มีผลผลิตที่ดีขึ้น และให้แนวทางการตลาด รวมถึงทางสหกรณ์ฯได้มาช่วยรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม และเกษตรกรอยู่ได้ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีการผลิตผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้นจากเมื่อก่อน
จากปริมาณผลผลิตที่มีจำนวนมาก ทางสหกรณ์ฯ จึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารรวบรวมและแปรรูปผลผลิต เป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำตลาดและกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว
โดยในการก่อสร้างอาคารรวบรวมผลผลิตและแปรรูป นายไพโรจน์ นุ่นสวัสดิ์ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด เล่าถึงที่มาที่ไปว่า ในการทำการตลาดผลผลิตของเกษตรในช่วงเริ่มต้น ทางสหกรณ์ฯได้จัดหาแม่ค้าไปรับซื้อผลผลิตถึงในแปลงของสมาชิก แต่ยังมีปัญหาในเรื่องขีดจำกัดในการรับซื้อผลผลิต ดังนั้นจึงได้เขียนโครงการขออนุมัติงบสนับสนุนในการสร้างอาคารรวบรวมผลผลิตและแปรรูปผลผลิตของสมาชิก ซึ่งก็ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มา ปัจจุบันทางสหกรณ์ฯจะให้สมาชิกเก็บผลผลิตมาส่งไว้ที่อาคารรวบรวม โดยที่ผลผลิตไม่ต้องค้างอยู่ที่แปลงผลิต ช่วยลดปัญหาเรื่องผลผลิตเสียหายได้เป็นอย่างดี และช่วยเสริมสร้างรายได้เกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้น ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และช่วยปลดหนี้ได้