ทำไม “ประหยัดพลังงาน” ช่วยชาติได้ ?

22 ก.ย. 2565 | 03:14 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2565 | 10:53 น.

ทำไม “ประหยัดพลังงาน” ช่วยชาติได้ ?

วิกฤตราคาพลังงานที่ยังผันผวน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังไม่สามารถหาบทสรุป และความหวาดวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในช่วงฤดูหนาวของยุโรปที่ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติปริมาณมากในการสร้างความอบอุ่น จะทำให้หลายประเทศประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานอย่างหนักและต้องเผชิญกับราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายประเทศจึงต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน พร้อมเดินหน้าเปิดโหมดประหยัดพลังงานอย่างเต็มที่

ในขณะที่ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ทั้งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากแหล่งพลังงานในประเทศมีไม่เพียงพอจึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานอย่างหนักเช่นกัน แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามแก้ไขปัญหา ปรับแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของประเทศเพื่อลดต้นทุน แต่บรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้ภาครัฐผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากภาคประชาชนให้มาประหยัดพลังงานช่วยชาติฝ่าวิกฤตพลังงานในครั้งนี้

ทำไม “ประหยัดพลังงาน” ช่วยชาติได้ ?

ประหยัดพลังงานช่วยชาติ ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาสูง

การประหยัดพลังงานถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ก่อให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะได้ประโยชน์สูงสุดในการช่วยลดรายจ่ายของครอบครัว ขณะเดียวกันก็ส่งผลพลอยได้ทำให้ปริมาณการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศลดลงจึงช่วยลดความเสี่ยงในการขาดแคลนพลังงานของประเทศ ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (LNG) ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะภาคการผลิตไฟฟ้าที่ต้นทุนส่วนใหญ่คือค่าเชื้อเพลิง การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า​นั้นจะเริ่มจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุดไปถึงโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงสุด ดังนั้นหากการใช้ไฟฟ้าลดลง การผลิตไฟฟ้าในระบบก็ไม่ต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีต้นทุนสูงในขณะนี้เข้ามาในระบบ ส่งผลให้ต้นทุนค่าเอฟทีในภาพรวมลดลงและเป็นประโยชน์ต่อค่าไฟฟ้า ดังนั้นการช่วยประหยัดพลังงานคนไม้คนละมือของคนไทยทุกคนจึงเปรียบเสมือนการหยอดกระปุกออมสินที่ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศและมีเสถียรภาพทางพลังงานเพิ่มขึ้น

ประหยัดพลังงาน ประหยัดเงิน เริ่มง่าย ๆ ได้ที่ตัวเรา

การประหยัดพลังงานจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทั่วโลกยึดถือปฏิบัติในยามที่เกิดวิกฤตพลังงาน เพราะเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนในประเทศสามารถปฏิบัติได้ อาทิ

  • ปรับเปลี่ยนนิสัยที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน เช่น ปิดสวิตซ์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทันทีเมื่อเลิกใช้งาน ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้สูงขึ้นหรือไม่ต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุก 6 เดือน ซักผ้าหรือรีดผ้าครั้งละมาก ๆ ลดการเปิด-ปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้นานเกินความจำเป็นและไม่ใส่ของแน่นตู้จนเกินไป
  • เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงประหยัดไฟ โดยสังเกตจากฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว และดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

ทำไม “ประหยัดพลังงาน” ช่วยชาติได้ ?

  • บ้านประหยัดพลังงาน โดยออกแบบที่อยู่อาศัยให้มีระบบถ่ายเทอากาศได้ดี เลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ช่วยประหยัดพลังงาน

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการสังคม กฟผ. พบว่า หากเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว แทนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าในบ้านและทำตามวิธีประหยัดไฟฟ้าจะสามารถช่วยประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้กว่า 9,776.27 บาทต่อปี เช่น

  • เตารีด ขนาด 1,000 วัตต์ ใช้งาน 200 ชั่วโมงต่อปี โดยก่อนใช้ฉลากเบอร์ 5 ติดดาว ค่าไฟ 253 บาทต่อปี แต่หลังใช้ฉลากเบอร์ 5 ★★★ และถอดปลั๊กก่อนเลิกใช้งาน 1 นาที ค่าไฟลดเหลือ 95 บาทต่อปี สามารถประหยัดค่าไฟได้ถึง 158 บาทต่อปี หรือประมาณ 62%
  • เครื่องปรับอากาศ ระบบ Inverter ขนาด 13,000 บีทียูต่อชั่วโมง เปิดที่อุณหภูมิ 25 องศา จำนวน 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยก่อนใช้ฉลากเบอร์ 5 ติดดาว ค่าไฟอยู่ที่ 11,294 บาทต่อปี แต่หลังใช้ฉลากเบอร์ 5 ★★★ เปิดที่อุณหภูมิ 26 องศา และล้างเครื่องปรับอากาศ 2 ครั้งต่อปี ค่าไฟลดเหลือ 6,013 บาทต่อปี สามารถประหยัดค่าไฟได้ถึง 5,281 บาทต่อปี หรือประมาณ 47%
  • หลอดไฟแอลอีดี (LED) ขนาด 7 วัตต์ จำนวน 1 ดวง เปิดใช้งาน 8 ชั่วโมงต่อวัน จากเดิมใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 13 วัตต์ ค่าไฟอยู่ที่ 150.32 บาทต่อปี แต่หลังจากเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟแอลอีดี และปิดไฟ 1 ดวง 1 ชั่วโมงต่อวัน ค่าไฟลดเหลือ 64.75 บาทต่อปี สามารถประหยัดค่าไฟได้ถึง 85.57 บาทต่อปี หรือประมาณ 57%

ทำไม “ประหยัดพลังงาน” ช่วยชาติได้ ?

ทำไม “ประหยัดพลังงาน” ช่วยชาติได้ ?

นอกจากนี้หลายหน่วยงานภาครัฐยังขานรับนโยบายลดใช้พลังงานในองค์กรในช่วงวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้น เช่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กำหนดมาตรการลดใช้พลังงานด้วยการสนับสนุนการประชุมออนไลน์ และ Work From Home อบรมการล้างแอร์ด้วยตัวเองให้กับบุคลากร ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งเป้าลดการใช้พลังงานในสำนักงานลงร้อยละ 20 ด้วยมาตรการบริหารจัดการควบคุมระบบแสงสว่างในอาคารโดยการตั้งเวลาและติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว กำหนดเวลาปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงพักกลางวันและก่อนเวลาเลิกงานอย่างน้อย 30 - 60 นาที รณรงค์ให้พนักงานสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี

เมื่อวิกฤตราคาพลังงานในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงและยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นในเร็ววันนี้ การประหยัดพลังงานจึงเป็นหนทางที่พวกเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมช่วยชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้