สพ.ญ.ดร.นิอร บุญประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ หน่วยงานสัตวแพทย์บริการด้านสัตว์ปีก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ มีระบบป้องกันไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกของบริษัท และฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่กับบริษัท (Contract Farming) อย่างแข็งแกร่ง โดยพัฒนาระบบการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity System) เพื่อป้องกันโรคสัตว์ปีก และยกระดับมาตรฐานการจัดการฟาร์มสัตว์ปีก โดยได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ ที่สำคัญซีพีเอฟได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดทำ “โครงการปลอดโรคไข้หวัดนก” ภายใต้รูปแบบการบริหารจัดการด้วย "ระบบคอมพาร์ทเม้นท์" หรือการเลี้ยงสัตว์ปีกในระบบฟาร์มปิด ตามหลักการขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ OIE) มาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นให้ความรู้ สร้างความตระหนักแก่บุคลากรและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ในเรื่องสุขศาสตร์ การป้องกันโรค วิธีการสังเกตอาการป่วยของสัตว์ปีก และแนวทางการปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถป้องกันโรคในสัตว์ปีกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์ปีกในฟาร์มของซีพีเอฟทั้งหมด ใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully Automation) ช่วยลดแรงงานคนให้น้อยที่สุด ทดแทนด้วยการใช้เทคโนโลยี เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่จะเข้าไปสู่ตัวสัตว์ในระบบการเลี้ยง โดยมีสัตวบาลผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบการเลี้ยงผ่านคอมพิวเตอร์ ด้วยการใช้ AI ในการตรวจติดตามพฤติกรรม ความเป็นอยู่และสุขภาพสัตว์ หากพบความผิดปกติเกิดขึ้น ก็สามารถปรึกษากับสัตวแพทย์ได้ทันที เพื่อวางแผนการรักษาได้โดยไม่ต้องเข้าตรวจในฟาร์ม ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากคนเป็นพาหะ บางกรณีที่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน ต้องมีมาตรการที่เข้มงวด บุคลากรที่จะเข้าไปในพื้นที่เลี้ยง ต้องมีชำระร่างกายและคัดกรองโรคตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงยานพาหนะที่เข้าไปในเขตฟาร์มต้องผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อก่อนทุกครั้ง
“ซีพีเอฟมีมาตรการติดตามสุขภาพฝูงสัตว์ปีกและเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ด้วยมาตรการที่รัดกุมของระบบคอมพาร์ทเม้นท์ จึงช่วยลดโอกาสและลดความเสี่ยงการเกิดโรคสัตว์ได้เป็นอย่างดี จากหลักการประเมินความเสี่ยงหรือวิเคราะห์ปัจจัยของการเกิดโรคภายในฟาร์ม เพื่อหาทางป้องกันและจัดการกับปัจจัยเสี่ยงจึงทำให้การควบคุมและป้องกันโรคทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายประเทศกำลังประสบปัญหาไข้หวัดนกอยู่ เกษตรกรไทยต้องมีมาตรการเฝ้าระวังและดูแลฝูงสัตว์ปีกที่เข้มข้นขึ้น (Disease Surveillance System) โดยใช้มาตรการป้องกันโรคตั้งแต่ต้นทาง มีระบบการเลี้ยง การจัดการที่ถูกต้อง ด้วยระบบการป้องกันโรคที่ดี ตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์และสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด เกษตรกรมั่นใจได้ว่าสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกได้อย่างแน่นอน” สพ.ญ.ดร.นิอร กล่าว
สำหรับกระบวนการตรวจติดตามสถานะทางสุขภาพสัตว์ของซีพีเอฟ มีการดำเนินการเป็นประจำทุกเดือน โดยมีการเก็บตัวอย่าง swab สัตว์ปีกพันธุ์เพื่อส่งตรวจแยกเชื้อไวรัสสำคัญ และเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจติดตามสถานะทางภูมิคุ้มกันของฝูงสัตว์ปีกต่อโรคติดเชื้อสำคัญ สำหรับสัตว์ปีกเนื้อจะมีการสุ่มเก็บตัวอย่าง swab และอวัยวะทุกฝูงก่อนปลด เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ว่าปราศจากการปนเปื้อนไวรัสสำคัญ ได้แก่ ไข้หวัดนก และนิวคาสเซิล ควบคู่กับการตรวจสอบการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะและสารตกค้างต่างๆ และเก็บตัวอย่างเนื้อที่เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายหลังแปรรูป ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ก่อนถึงมือผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังร่วมกับกรมปศุสัตว์ และเกษตรกรในพื้นที่ เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจเฝ้าระวังโรคในฟาร์มสัตว์ปีกที่เลี้ยงในพื้นที่ 1 กิโลเมตร รอบฟาร์มอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมการทำวัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิลในฝูงสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้าน และสนับสนุนการพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณจุดเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วย
สพ.ญ.ดร.นิอร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงไม่ให้เชื้อไวรัสก่อโรคและเชื้อจุลชีพอื่นเข้ามาภายในฟาร์มเลี้ยงไก่ ต้องมีระบบป้องกันโรคที่ดี โดยมีหลักการที่ควรปฏิบัติ 8 ประการ คือ แยกบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกให้ชัดเจน มีรั้วรอบขอบชิดสามารถป้องกันสัตว์พาหะจากภายนอกฟาร์ม ทำการจำกัดบุคคลเข้าฟาร์มเท่าที่จำเป็นเท่านั้น มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหนะทุกชนิดก่อนเข้ามาไปภายในฟาร์ม ต้องล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเตรียมโรงเรือนก่อนเลี้ยงไก่รุ่นใหม่ ทำการซ่อมแซมโรงเรือน โครงสร้าง และอุปกรณ์การเลี้ยงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีตาข่ายกันนกเพื่อไม่ให้มาทำรังบริเวณชายคาหรือเข้าไปภายในโรงเรือน มีระบบป้องกันสัตว์พาหะอื่นๆ โดยเฉพาะ หนู ด้วงดำ และแมลงวันซึ่งเป็นพาหะนำโรค จัดทำระบบการบำบัดน้ำและจัดการของเสียภายในฟาร์มอย่างถูกวิธี
กรณีที่เกษตรกรผู้เลี้ยงพบสัตว์ปีกตายกะทันหัน หรือมีอาการผิดปกติ ต้องแจ้งสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มและปศุสัตว์ในพื้นที่โดยเร็ว หากพบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกผิดกฎหมาย โดยเฉพาะพื้นที่เขตชายเดน หรือพบสัตว์ปีกตามธรรมชาติแสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตรวจวินิจฉัยต่อไป สำหรับวิธีการป้องกันตนเองจากไวรัสไข้หวัดนก ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ไม่ทราบประวัติ รวมถึงมูลและสารคัดหลั่ง หรือสัตว์ปีกที่มีอาการหรือสงสัยว่าป่วย หากเกิดการสัมผัสให้ใช้สบู่ล้างมือให้สะอาดทันที สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโรค ควรสังเกตสุขภาพตนเอง หากรู้สึกมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว รวมถึงสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
“เพื่อการรับประทานเนื้อไก่ เนื้อเป็ด และสัตว์ปีกอื่นได้อย่างมั่นใจ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่มีระบบการผลิตผ่านการรับรองมาตรฐาน และแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ สังเกตสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" และซื้อผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีฉลากแจ้งข้อมูลสำคัญที่ชัดเจน อาทิ วันผลิต วันหมดอายุ และก่อนรับประทาน ต้องปรุงสุกที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาที ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้” สพ.ญ.ดร.นิอร กล่าวทิ้งท้าย./