ภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ผ่านที่ประชุมรัฐสภา ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไป “ประธานรัฐสภา” จะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ “นายกรัฐมนตรี” เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
แต่ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯจะต้องเว้นระยะเวลาไว้ 15 วัน (ถึง 24 ก.ย. 64) ระหว่างนี้ หาก ส.ส. และ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เสนอประธานรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนายกรัฐมนตรี จะยังไม่สามารถนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา
ล่าสุด นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ออกมายํ้าถึงกระบวนการหลังลงมติวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าต้องพักไว้ 15 วันก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามกฎหมาย ไม่มีสะดุด โดยเฉพาะยังไม่มีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อส่งมาเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และส่วนตัวยังข้องใจอยู่ว่า จะยื่นตีความประเด็นใด แต่หากมีก็สามารถเสนอมาได้
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง ที่จะเสนอเนื้อหาสาระเพื่อประกอบร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง หรือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. โดยเฉพาะเรื่อง “สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาตี้ลีสต์” ที่ไม่ได้บัญญัติสูตรการคำนวณไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
ว่ากันว่า...เกิดความขัดแย้งกันมากในชั้นกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และใช้เวลาถกเถียงกันนาน เลยยก เรื่อง “สูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” ให้ไปบรรจุไว้ในกฎหมายลูกแทน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่าขณะนี้กำลังยกร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะยื่นร่างต่อประธานรัฐสภา หลังจากประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะยกร่างและเสนอต่อประธานรัฐสภาก่อน
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในการแก้ไขมาตรา 91 เรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้นำความมาจากมาตรา 98 ตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มายกร่าง ที่กำหนดว่า
การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีบัญชีรายชื่อในบัญชีของแต่ละพรรคการเมือง ได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนน ที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง
“ยกตัวอย่างหากคะแนนเสียงเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองรวมกันมี 35 ล้านเสียง นำมาหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน จะได้คะแนนหารจำนวนสัดส่วน ส.ส. บัญชีรายชื่อแต่ละพรรค คือ 350,000 คะแนน คือได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน
หากพรรคได้คะแนน 700,00 คะแนน ก็จะได้ส.ส. บัญชีรายชื่อ 2 คน หากหารจำนวน ส.ส.กับคะแนนของแต่ ละพรรคการเมืองแล้วได้ลงตัว 95 ส.ส. และเหลืออีก 5 คน ให้ดูพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง 350,000 คะแนน โดยไล่เรียงจากพรรคที่ได้สูงสุดลดหลั่นกันไป ซึ่งวิธีคำนวณนี้ จะไม่มีพรรคใดได้ ส.ส.ปัดเศษ” นายไพบูลย์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของพรรคขนาดกลาวและเล็ก นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลระบุว่า พรรคจะหารือร่วมกับ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ต่อการเสนอเนื้อหาแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้ง ส.ส.
โดยมีประเด็นที่คิดว่าจะปรับปรุงจากพ.ร.ป.ฉบับที่ใช้อยู่คือ การกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. และหมายเลขของพรรคการเมือง ให้เป็นหมายเลขเดียวกันทุกเขตและทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่สับสน และง่ายต่อพรรคการเมืองจะหาเสียง
รวมถึงการเสนอเนื้อหาว่าด้วยการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่สามารถเขียนเนื้อหาให้มีความเป็นกลางและทุกพรรคได้รับความเป็นธรรม เช่น นำหลักการของระบบคำนวณแบบ MMP ออกแบบผสมผสานกับระบบของรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้น
“การออกแบบให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถือว่าพรรคการ เมืองใหญ่ได้เปรียบ ดังนั้น การออกแบบกฎหมายลูก ผมเห็นว่าพรรคขนาดกลาง รวมถึง พรรคขนาดเล็ก ควรมีโอกาสสร้างกติกาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรคเท่าเทียมกัน รวมถึงพรรคฝ่ายค้านด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบมากเกินไป” นายนิกร ระบุ
เรื่อง “สูตรคำนวณส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์” เชื่อว่าจะเป็น “ประเด็น” ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ กับ พรรคขนาดกลางและเล็ก ขึ้นมาอีกได้เพราะต่างฝ่ายต่างก็อยากได้ “สูตรคำนวณส.ส.” ที่พรรคตัวเองได้เปรียบ
หลังเปิดสภาฯ สมัยสามัญสมัยหน้า เราจะได้เห็นความขัดแย้งของพรรคการเมืองในเรื่องนี้เกิดขึ้นแน่นอน...