วันนี้ (29 ก.ย.65) ที่ห้องสัมมนา B1 - 5 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการแถลงข่าวแก่คณะทูตานุทูตในโอกาสการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30
โดยมี ศ.พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เอกอัครราชทูตจาก 7 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เม็กซิโก สาธารณรัฐโคลอมเบีย สาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐเปรู พร้อมด้วย คณะทูตานุทูต ประเทศผู้สังเกตการณ์ องค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 20 ประเทศ สมาชิก 1 ประเทศผู้สังเกตการณ์ และ 1 องค์การระหว่างประเทศ
ตลอดจน นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการเมืองและความมั่นคงในการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30 นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านพิธีการ การอำนวยความสะดวก และงานเลี้ยง
นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และสารสนเทศการประชุม นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการด้านสมาชิกรัฐสภาสตรี คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา และผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ร่วมพิธีเปิด
ในโอกาสนี้ กล่าวว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานในการแถลงข่าวแก่คณะทูตานุทูตในโอกาสการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 ในนามของรัฐสภาไทย ขอขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่ามาร่วมงานกับเรา
รัฐสภาไทยเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 26 - 29 ต.ค.2565 ภายใต้หัวข้อ "บทบาทของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019"
โดยหัวข้อหลัก อาทิ บทบาทการทูตเชิงรัฐสภาในการส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาค การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุม รวมทั้งบทบาทของรัฐสภาในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางคาร์บอน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ในการพิจารณาหัวข้อเหล่านี้ เราต้องตระหนักว่าโควิด-19 ยังอยู่กับเรา แม้ว่าหลายประเทศได้ลดระดับสถานะของโควิด-19 โดยรักษาให้เป็นเชื้อโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ แต่ก็ยังคงต้องจัดเป็นโรคติดต่อภายใต้การเฝ้าระวังในปัจจุบัน
การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 นี้ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศสมาชิกที่จะแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับโรคโควิด-19 และยังรวมถึงโรคติดต่ออื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต
โดยในครั้งนี้ บทบาทการทูตเชิงรัฐสภาจะช่วยให้เราสามารถก้าวเข้าสู่ยุคหลังโควิด-19 ในขณะเดียวกันก็พยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดังที่เราทราบกันดีว่าโรคโควิด-19 และความขัดแย้งทางการเมืองทางภูมิศาสตร์กำลังคุกคามเศรษฐกิจโลกด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อหลายประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ตนยังคงเชื่อว่า เราจะไม่ปล่อยให้ความล้มเหลวดังกล่าวมาขวางทางของเรา และความพยายามร่วมกันผ่านการทูตเชิงรัฐสภาที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างความคิดและวิสัยทัศน์ระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเราได้
สำหรับในวันนี้ ได้จัดให้มีการบรรยายสรุป เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30 ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้คณะทูตานุทูต ประเทศผู้สังเกตการณ์ และองค์การระหว่างประเทศ ได้รับข้อมูลเป็นอย่างดี สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่จำเป็น
โดยเราได้พยายามอย่างยิ่งในการเตรียมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นวาระสุดท้ายของรัฐสภาผู้เป็นเจ้าภาพ เราจึงหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเกิดผลดี มีคุณค่า และน่าจดจำที่สุด และขออวยพรให้ผู้แทนทุกท่านได้พักผ่อนอย่างมีความสุขในระหว่างปฏิบัติภารกิจในประเทศไทย และขอขอบคุณ
จากนั้น เป็นการบรรยายสรุป โดย น.ส.สตีจิตร ไตรพิบูลย์สุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับหัวข้อสำหรับการประชุมทั้ง 4 ด้านของการประชุมประจำปี APPF ครั้งที่ 30 ได้แก่
- ด้านสตรี หัวข้อ “การเสริมสร้างศักยภาพของสตรีเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”
- ด้านการเมืองและความมั่นคง หัวข้อ “บทบาทการทูตเชิงรัฐสภาในการส่งเสริมความมั่นคง ในภูมิภาค / การส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภูมิภาค /รัฐสภาและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สันติภาพ และความมั่นคง”
- ด้านเศรษฐกิจและการค้า หัวข้อ “การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุม / การเพิ่มความเชื่อมโยงและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก”
- ด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคภายในเอเชีย-แปซิฟิก หัวข้อ “บทบาทของรัฐสภาในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็น กลางทางคาร์บอนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ /การพัฒนาและการขยายการเข้าถึงสาธารณสุขมูลฐานอย่างเท่าเทียม/การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและการสนับสนุนความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม”
ทั้งนี้ การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ประกอบด้วย 4 อนุภูมิภาค ได้แก่
1. เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (5 ประเทศ) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มองโกเลีย และรัสเซีย
2. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (9ประเทศ) ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และบรูไนดารุสซาลาม
3. โอเชียเนีย/หมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ตะวันตก และตอนใต้ (6ประเทศ) ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิจิ ไมโครนีเซีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะมาร์แชลล์
4. อเมริกา (8 ประเทศ) ได้แก่ แคนาดา ชิลี โคลัมเบีย เม็กซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา เอกวาดอร์ และคอสตาริกา
การจัดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Parliamentary Forum : APPF) ครั้งที่ 30 ของรัฐสภาไทยในปีนี้ เป็นการประชุมที่เน้นรูปแบบการจัดประชุมสีเขียว (Green Conference) ซึ่งคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญในขั้นตอนต่างๆ ของการจัดประชุมตั้งแต่การจัดเตรียมสถานที่ และอุปกรณ์
เช่น กระเป๋าเอกสารสำหรับแจกให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ตัดเย็บจากผ้าดิบเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และมีความทนทาน ปากกาทำจากการนำเอาวัสดุที่ใช้แล้วมาแปรใช้ใหม่ (Recycle) ในที่นี้คือกระดาษและฟางข้าวสาลี ที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้พลาสติก การใช้กระดาษเท่าที่จำเป็น เป็นต้น รวมถึงการจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มยังคำนึงถึงแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) เพื่อลดปริมาณขยะ