มร.อาคิฮิสะ โยโกยามา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด หนึ่งในบริษัทชั้นนำเครื่องปรับอากาศระดับโลก เปิดเผยว่า บริษัทได้ประกาศร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นทางการกับคณะ เทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเทคโนโลยี "สตรีมเมอร์" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเอกสิทธิ์เฉพาะของไดกิ้น ในการช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคชาวไทย และตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีปรับอากาศระดับโลกของไดกิ้น
ทั้งนี้ เมื่อเดือน กรกฏาคม ปี 2020 บริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) ได้ประกาศผลประสิทธิภาพจากการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โอคายาม่า (Okayama University of Science) ประเทศญี่ปุ่น ว่า สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ได้ถึง 99.9% ด้วยการปล่อยประจุ Streamer เป็นเวลา 3 ชั่วโมง และเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคชาวไทยขึ้นไปอีกขึ้น
ทางบริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด จึงร่วมมือกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทดสอบประสิทธิภาพประจุสตรีมเมอร์ (Streamer) กับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยติดเชื้อจากการระบาดภายในประเทศไทย ซึ่งผลทดสอบยืนยันว่าเทคโนโลยีสตรีมเมอร์ สามารถช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยได้ 99.9 % สอดคล้องกับผลการทดสอบจากประเทศญี่ปุ่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หทัยรัตน์ เลิศสำราญ และคณะทีมคณาจารย์จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของสตรีมเมอร์ที่อยู่ภายในเครื่องฟอกอากาศไดกิ้นรุ่น MCK55TVM6, MC55UVM6 และ MC40UVM6 และเครื่องปรับอากาศไดกิ้นรุ่นใหม่ล่าสุด เซ-ต้าส (ZETAS) เพื่อยืนยันว่าเทคโนโลยีสตรีมเมอร์สามารถช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่แพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทย โดยทำการทดสอบกับเชื้อไวรัสที่เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งได้นำตัวอย่างไปเพาะเลี้ยงเพื่อคัดแยกชนิด และเพิ่มกำลังของเชื้อเพื่อที่จะได้ทดสอบประสิทธิภาพของสตรีมเมอร์ที่อยู่ในเครื่องฟอกอากาศและเครื่องปรับอากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จากผลการทดสอบได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าประสิทธิภาพเทคโนโลยีสตรีมเมอร์ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องฟอกอากาศไดกิ้นทั้ง 3 รุ่น ประกอบด้วย MCK55TVM6, MC55UVM6 และ MC40UVM6 รวมถึงเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่เซ-ต้าส (ZETAS) ด้วยการเปิดเครื่องสตรีมเมอร์ เป็นเวลา 6 ชั่วโมง สามารถช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ได้ 99.9 % ภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมง (อ้างอิงจากผลทดสอบวันที่ 18 มิถุนายน 2564)
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพเทคโนโลยีสตรีมเมอร์นั้น ได้ทำการทดสอบภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 สำหรับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ภายในกล่องอะคริลิคขนาด 31 ลิตร 2 กล่อง ซึ่งถูกติดตั้งอุปกรณ์สตรีมเมอร์ที่ได้นำแกะออกจากเครื่องฟอกอากาศไดกิ้นรุ่น MC40UVM6 ไว้ภายในกล่องอะคริลิค 1 กล่อง และอีกกล่องไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์สตรีมเมอร์ โดยไวรัสที่ทำการทดสอบถูกบรรจุอยู่ในสารละลายไวรัส ซึ่งถูกนำมาใส่ในหลุมของจานทดลอง 6 หลุม (6-well plate) หลุมละ 0.5 มล. และวางบนเครื่องเขย่า ที่มีรอบเขย่า 12 ครั้ง/นาที ภายในกล่องอะคริลิค
อุปกรณ์สตรีมเมอร์ทำงานโดยการปล่อยพลาสม่าผ่านอากาศลงไปยังจานทดลอง 6 หลุมที่มีสารละลายไวรัสอยู่ซึ่งตั้งอยู่บนเครื่องเขย่าที่กำลังทำงาน จากนั้นทำการเก็บสารละลายไวรัสทุกๆ 1, 2 , 3, จนถึง 6 ชั่วโมง จากจานทดลอง และนำไปนับจำนวนไวรัสที่รอดชีวิตด้วยวิธีนับจำนวนพลัค (Plaque method) โดยใช้วิธี TCID50 ซึ่งใช้เซลล์ Vero E6 สำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)
มร.อาคิฮิสะ โยโกยามา กล่าวว่า ผลการทดสอบครั้งนี้ได้ตอกย้ำประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสตรีมเมอร์ว่าสามารถช่วยยั้บยั้งเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย เพราะการทดสอบดำเนินการด้วยเชื้อโคโรน่าไวรัสที่ระบาดในประเทศไทย ภายใต้สภาพแวดล้อมในประเทศไทยถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ ทั้งยังตอกย้ำว่าไดกิ้นเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมอบอากาศที่ดีและสมบูรณ์แบบ (Perfecting the Air) ให้แก่ผู้ใช้งานในประเทศไทยทุกคน
ความร่วมมือระหว่างบริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด และมหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ ยังถือเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย ในการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพที่สามารถพิสูจน์ได้ เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดี และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพให้แก่ผู้บริโภค
เทคโนโลยีสตรีมเมอร์ เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยบริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) จนในปี 2547 เทคโนโลยีสตรีมเมอร์ได้ถูกนำมาใช้งานจริง โดยใช้หลักการทำงานในการปล่อยประจุไฟฟ้าพลาสม่าสตรีมเมอร์ (Streamer discharge) ที่มีประสิทธิภาพในการสลายสสารอันตราย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีฟอกอากาศที่สร้างอิเล็คตรอนความเร็วสูงอย่างเสถียร และถือเป็นคุณสมบัติที่ทำได้ยากในเวลานั้น เพราะประสิทธิภาพในการสลายสสารด้วยวิธีออกซิเดชั่น (Oxidation) ของสตรีมเมอร์ นั้นมากกว่าการปลดปล่อยประจุพลาสม่าแบบทั่วไป (glow discharge) เพราะมีพลังงานสูงกว่า 2-3 เท่า
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผสานกับโมเลกุลของอากาศทำให้อิเล็กตรอนความเร็วสูงเหล่านี้ มีคุณสมบัติในการสลายสสารด้วยกระบวนการออกซิเดชั่น ทำให้สตรีมเมอร์สามารถกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ แบคทีเรียและมลพิษทางอากาศภายในอาคาร เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ ได้อย่างต่อเนื่อง