เน้นย้ำ ผู้ประกันตนที่ออกจาก มาตรา 33 อย่าขาดส่ง ไม่ขาดสิทธิ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม โดยให้ส่งต่อเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 39 จ่ายน้อย สิทธิประโยชน์ครบ คุ้มครอง ดูแลต่อเนื่อง
ผู้ประกันตนมาตรา 39 หมายถึง ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ที่นำส่งเงินสมทบด้วยตนเอง ไม่ใช่นายจ้าง โดยผู้ประกันตนจะส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม 432 บาทต่อเดือน ได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ซึ่งที่ผ่านมามักพบว่า ผู้ประกันตนจำนวนไม่น้อยที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนม.39 โดยสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ ขาดส่งเงินสมทบติดต่อกัน 3 เดือนติดต่อกัน และภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน นับว่าเป็นความน่าเสียดาย เนื่องจากสิทธิประกันสังคมมาตรา 39 สามารถช่วยคุ้มครองคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนได้
นายนเรศ มิ่งมิตร ผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้ข้อมูลว่า “ช่วงที่ลาออกจากงานประจำ ก็มีความลังเลว่าจะคงสภาพการเป็นผู้ประกันตนต่อเนื่องดีหรือไม่ แต่โชคดีที่ติดตามข่าวสารของสำนักงานประกันสังคม จึงตัดสินใจส่งต่อประกันสังคมมาตรา 39 และจากนั้นไม่นาน ก็ได้ประสบอุบัติเหตุจนขาหัก ยิ่งตอกย้ำว่า ตนเองตัดสินใจถูกต้อง เนื่องจากหมดค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนเงินเกือบหนึ่งแสนบาท ซึ่งหากไม่มีสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม คงต้องตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก อีกทั้งปัจจุบัน การนำส่งเงินสมทบประกันสังคมสามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพียงลงทะเบียนเข้าสู่ระบบของผู้ประกันตนทาง Line สำนักงานประกันสังคม จะทำให้ได้รับการแจ้งเตือนกรณีค้างชำระการนำส่งเงินสมทบมาตรา 39 และสมัครนำส่งเงินสมทบโดยหักผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งจะหมดปัญหาเรื่องการลืมส่งเงินสมทบได้เป็นอย่างดี”
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครมาตรา 39 สามารถดำเนินการได้ง่าย ๆ ดังนี้
1. ดาวน์โหลดเอกสาร แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)
2. แนบบัตรประชาชน หรือบัตรที่มีเลขบัตรประชาชนและรูปถ่ายที่ราชการออกให้ พร้อมสำเนา
3. ส่งแบบคำขอและเอกสารการสมัครมาตรา 39 ผ่านช่องทางที่สะดวก ประกอบด้วย
สมัครที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้านภายใน 6 เดือน หลังจากลาออกจากงานและต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา สายด่วนประกันสังคม โทร.1506 ไม่เว้นวันหยุดราชการ