การประชุม 2022 UN Ocean Conference ได้กำหนดจัดขึ้นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2565 ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส สำหรับประเทศไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ขึ้นกล่าวแสดงบทบาทและท่าทีของประเทศไทย โดยได้ตอกย้ำถึงความก้าวหน้าในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทย รวมถึงแสดงจุดยืนของประเทศไทยในการยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในทุกมิติ ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากหลายประเทศถึงการดำเนินงานของประเทศไทย ที่สามารถจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อย่างก้าวกระโดดและสะท้อนตอบเป้าหมายการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 อย่างเป็นรูปธรรม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังการขึ้นกล่าวบนเวที 2022 UN Ocean Conference ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส ว่า ตนในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยได้มีโอกาสขึ้นกล่าวแสดงท่าทีไทยในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเล ซึ่งได้ย้ำกับทุกประเทศภาคีสมาชิกสหประชาชาติถึงผลการดำเนินงานที่ก้าวกระโดดของประเทศไทย แม้ว่าทั่วโลกยังคงตระหนักถึงประเด็นที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งต้องเร่งดำเนินการโดยเรียกร้องให้สนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและการให้ความสำคัญกับนโยบายทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง การสนับสนุนทางการเงิน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี สำหรับประเทศไทยได้ให้คำมั่นในดำเนินการจัดการทะเลและมหาสมุทรบนฐานของความเป็นธรรมชาติ (Nature-based) และศักยภาพของระบบนิเวศเพื่อการจัดการอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการจัดการขยะทะเล การแก้ไขปัญหามลพิษทางทะเล การจัดการความเป็นกรดในมหาสมุทร และการจัดการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งผลการดำเนินงานของประเทศไทยค่อนข้างโดดเด่นอย่างมาก และที่สำคัญประเทศไทยเพิ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานประสานทศวรรษแห่งมหาสมุทร (Decade Coordination Office) จาก UNESCO ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่เล็งเห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นหน่วยประสานและขับเคลื่อนการดำเนินงานในช่วงทศวรรษแห่งมหาสมุทรช่วงปี 2021 – 2030 ตนได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมว่า “ความจริงที่ว่ามหาสมุทรที่ขาดมนุษย์ ก็ยังคงเป็นมหาสมุทร แต่ถ้ามนุษย์ที่ปราศจากมหาสมุทร ย่อมอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 จะต้องเชื่อมโยงและสนับสนุนการดำเนินงานเป้าหมายอื่น ๆ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องเดินไปด้วยกัน เพื่อการอนุรักษ์และป้องกันมหาสมุทรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ผลลัพธ์จากการประชุมครั้งนี้ ทุกประเทศภาคีสมาชิกจะได้ร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมืองเพื่อการเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และร่วมมือกันปกป้องผืนทะเลให้คงอยู่อย่างสมดุลตลอดไป และภายหลังจากการประกาศบทบาทและท่าทีของไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้ยกระดับการดำเนินงานให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งตนได้หารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดกลไกการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้ง ขยายการทำงานร่วมกับองค์กรภาคเอกชน และองค์กรต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการครบทุกมิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืน นายวราวุธ กล่าว
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า การประสานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 ประเทศไทยได้เร่งรัดการดำเนินงานเพื่อการบรรลุเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง สำหรับการประชุม UN Ocean Conference ครั้งนี้ ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการดำเนินงาน และได้รับคำชื่นชมจากหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้วางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานระยะต่อไปร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะได้นำเสนอต่อผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง เตรียมพร้อมเพื่อรายงานผลการดำเนินงานระดับชาติด้วยความสมัครใจที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ณ สำนักงานสหประชาชาติสำนักงานใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ต่อไป นายโสภณ กล่าวในที่สุด