นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดการแข่งขัน “พลอยได้ พาสุข” เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการย่อย “โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปปฏิบัติจริง” ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ บุคคล ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำกากของเสีย (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดสร้างมูลค่าทำเป็นผลิตภัณฑ์ ตามหลักแนวคิด “การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน (Industry-urban Symbiosis)”
ที่ดำเนินการภายใต้โครงการหลัก ‘การประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนและการใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเลิกใช้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (The application of industry-urban symbiosis and green chemistry for low emission and POPs free industrial development in Thailand)’
ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และลดการใช้สารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน (POPs) ในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิด “การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน และปรับใช้แนวทาง “เคมีสีเขียว” (Green Chemistry) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามเป้าหมายกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF)
รองอธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงาน 14 เดือน ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2566 ในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ใน 15 จังหวัด 18 พื้นที่ ตามที่ กรอ. กำหนด ซึ่งกิจกรรมโครงการจะประกอบด้วย
ก) การสำรวจและจัดทำรายชื่อผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ บุคคล ในพื้นที่ศึกษา
ข) การประชาสัมพันธ์เผยแพร่เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการ
ค) การแถลงข่าวเพื่อสร้างกระแสและประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ง) การรับสมัครและคัดเลือกเบื้องต้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้ได้ผู้เข้ารอบจำนวน 15 ทีม
จ) การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่โครงการจัดหาให้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้เข้าแข่งขันเตรียมพร้อมสำหรับรอบต่อไปเป็นเวลา 2 วัน
ฉ) การแข่งขันเพื่อคัด 5 ทีมสู่รอบชิงชนะเลิศ และเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้เข้าแข่งขันเตรียมพร้อมสำหรับรอบชิงชนะเลิศ ด้วยการส่งโค้ชไปช่วยทีมผู้เข้าแข่งขันทำแผนธุรกิจและพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Prototype)
ช) การตัดสินขั้นสุดท้ายตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยกรรมการที่เป็นกลาง มีรางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล มูลค่า 500,000 บาท และ รางวัลรองชนะเลิศ 4 รางวัล ๆ ละ 50,000 บาท ต่อการจัดทำกรณีศึกษา (หลังจากการแข่งขัน 6 เดือน) จะมีการติดตามความสำเร็จของการนำแผน/โมเดลธุรกิจไปปฏิบัติของ 5 ทีมผู้เข้าแข่งขันที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ และจัดทำเป็นกรณีความสำเร็จ (Success Cases) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากกิจกรรมนี้คือ การกระตุ้นให้เกิดกระแสการแข่งขันทางธุรกิจสีเขียว อันจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกวดมีความกระตือรือร้นในการรังสรรค์นวัตกรรมในการแปรรูปของเหลือใช้หรือผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ต่อไป