เลือกซื้อทองรูปพรรณอย่างไร ไม่ให้โดนเอาเปรียบ

26 ธ.ค. 2565 | 03:23 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2565 | 10:28 น.

ทองรูปพรรณเป็นสินค้าควบคุมฉลาก ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำฉลากให้ถูกต้อง โดยแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อสินค้า ชื่อที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ ปริมาณความบริสุทธิ์ของทองรูปพรรณ น้ำหนักทองรูปพรรณ ค่าแรง หรือค่ากำเหน็จ

เมื่อเอ่ยถึงทองคำทุกคนย่อมนึกถึงทรัพย์สินมีค่ามีราคา ซึ่งทองคำที่เราเคยพบเห็นกันอยู่ ได้แก่ ทองคำแท่ง มีหน่วยน้ำหนักที่เรียกว่า “บาท” จะมีน้ำหนักอยู่ที่ ๑๕.๒๔๔ กรัม ส่วนทองคำรูปพรรณ ๑ บาท จะมีน้ำหนักอยู่ที่ ๑๕.๑๖ กรัม ถึงแม้จะเป็นทอง ๑ บาทเหมือนกัน แต่จะมีราคาแตกต่างกัน เนื่องจากทองรูปพรรณจะมีค่ากำเหน็จ ซึ่งก็คือค่าแรงหรือค่าจ้างทำทองรูปพรรณนั่นเอง 
 

เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๔๔) และ ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๕๖) เรื่อง
 

ให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องจัดทำฉลากให้ถูกต้อง โดยแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อสินค้า ชื่อที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ ปริมาณความบริสุทธิ์ของทองรูปพรรณ น้ำหนักทองรูปพรรณ ค่าแรง หรือค่ากำเหน็จ ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณตามที่สมาคมค้าทองคำกำหนด  ในการเลือกซื้อทองรูปพรรณนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงอยากแนะนำผู้บริโภคให้มีความรอบคอบในการเลือกซื้อ ซึ่งร้านค้าทองต้องมีการแสดงสาระสำคัญ (ฉลาก) ไว้อย่างชัดเจน 


 

เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง และขอแนะนำวิธีสังเกตง่าย ๆ ๕ ข้อ ดังนี้
๑. มีชื่อประเภทหรือชนิดของทองรูปพรรณ ในกรณีที่เป็นทองรูปพรรณที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ให้ระบุชื่อประเทศที่ผลิตด้วย
๒. ชื่อและสถานที่ประกอบการหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้ผลิตเพื่อขายหรือของผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย แล้วแต่กรณี
๓. ปริมาณความบริสุทธิ์ของทองรูปพรรณ โดยระบุหน่วยเป็นกะรัต หรือเปอร์เซ็นต์ หรือ ร้อยละ หรือใช้สัญลักษณ์ K หรือ % แทนก็ได้
๔. น้ำหนักทองรูปพรรณ โดยระบุหน่วยเป็นกรัม หรือใช้สัญลักษณ์ ก. หรือ g แทนก็ได้
๕. ราคาให้ระบุเป็นเงินสกุลไทย และจะระบุเป็นเงินสกุลอื่น หรือใช้สัญลักษณ์ของสกุลเงินแทนก็ได้
 

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบร้านทองที่ไม่แสดงฉลากตามที่กำหนด หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม
จากการซื้อทอง สามารถร้องเรียนหรือขอคำปรึกษาได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. สายด่วน ๑๑๖๖ ร้องเรียนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ opb.go.th หรือ แอปพลิเคชั่น OCPB Connect