การชะลอความเค็มในลุ่มน้ำบางปะกง

27 ธ.ค. 2565 | 06:22 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2565 | 13:24 น.

การชะลอความเค็มในลุ่มน้ำบางปะกง

ในช่วงฤดูแล้งอ่าวไทยจะได้รับอิทธิพลน้ำทะเลรุกเข้ามาทางปากแม่น้ำสายหลักทุกสาย ถ้านับจากทิศตะวันตกของอ่าวไทยไปทิศตะวันออก ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกงการรุกเข้ามาของน้ำทะเล จากบทเรียนในปี พ.ศ. 2557 ความเค็มได้รุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำทั้ง 4 แม่น้ำอย่างผิดปกติ ความเค็มมีค่าสูงสุดและยาวนานที่สุด ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำการเกษตรและผลิตน้ำประปา  กรมชลประทานได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ได้ทำการเฝ้าระวัง ติดตามคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำบางปะกงอย่างต่อเนื่อง และใช้กลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดจุดควบคุมความเค็ม และแผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยชะลอความเค็ม ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อให้ค่าความเค็มค่อยๆ รุกตัวขึ้นตามช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้ยังคงใช้น้ำจากแม่น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมได้ 


 

โดยต้องบริหารจัดการอย่างเหมาะสมและคำนึงถึงเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์ที่มีความต้องการใช้น้ำกร่อยด้วย  แม่น้ำบางปะกงถือว่าเป็นแม่น้ำสายหลักสายหนึ่งในการหล่อเลี้ยงประชากรในพื้นที่ทางภาคตะวันออกหลายจังหวัด ตั้งแต่ จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อีกทั้งบางส่วนของสมุทรปราการและกรุงเทพฯ จังหวัดต่าง ๆ เหล่านี้ได้อาศัยน้ำจากแม่น้ำบางปะกงไปใช้ในการอุปโภค บริโภค การเกษตร การอุตสาหกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำท่าของลุ่มน้ำบางปะกงจะมีปริมาณเฉลี่ยต่อปีสูง แต่ในเขตลุ่มน้ำไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่จะเก็บกักน้ำเพื่อใช้ผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอ ทำให้เกิดการแพร่กระจายความเค็มเข้าสู่แม่น้ำบางปะกง - แม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องมาจากปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้นแต่ปริมาณฝนมีความไม่แน่นอน ในบางปีฝนก็ตกไม่ตามฤดูกาล อีกทั้งสภาพของแม่น้ำบางปะกงเองมีความลาดชันน้อยยิ่งทำให้การรุกตัวของน้ำเค็มเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการรุกตัวของน้ำเค็ม (ความเค็มมีค่า 1 กรัมต่อลิตร) จะเริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 

เพื่อให้การติดตามและควบคุมความเค็มมีประสิทธิภาพ กรมชลประทานได้ติดตั้งระบบโทรคมนาคมตรวจวัดคุณภาพน้ำกระจายตัวในแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำนครนายก สามารถตรวจวัดและส่งข้อมูลแบบ ณ เวลาจริง (Real Time) 
    

ผลความสำเร็จของการดำเนินการ


1. การประปาส่วนภูมิภาค สาขาฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง สาขาบางคล้า และสาขาปราจีนบุรี และประปาเทศบาลบ้านสร้าง สามารถใช้น้ำจืดในแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำปราจีนบุรีผลิตน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในแผนชะลอการรุกตัวของความเค็ม 


2. โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี สามารถใช้น้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรีในกิจการทางการแพทย์ได้ตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในแผนชะลอการรุกตัวของน้ำเค็ม 


3. พื้นที่เพาะปลูก 2 ฝั่งแม่น้ำ ประกอบด้วยพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง สามารถใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำปราจีนบุรีทำการเกษตรได้ตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในแผนชะลอการรุกตัวของน้ำเค็ม