“แม่น้ำปราจีนบุรี” เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ ลุ่มน้ำบางปะกง (รหัสลุ่มน้ำ 15) สำหรับสภาพทั่วไปของลุ่มน้ำบางปะกงโดยรวมนั้นครอบคลุมพื้นที่เขตการปกครอง 4 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 9,650 ตารางกิโลเมตรลักษณะลุ่มน้ำวางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 13*02 เหนือ ถึงเส้นรุ้งที่ 14028' เหนือและอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 101010' ตะวันออก ถึงเส้นแวงที่ 102*33 ตะวันออก พื้นที่ต้นน้ำมีต้นกำเนิดจากทิวเขาสันกำแพงซึ่งอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ลุ่มน้ำ ทางตอนใต้มีเนินเขาเขาเตี้ย และมีเทือกเขาติดต่อกันไม่ยาวนัก
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ราบระหว่างแม่น้ำ และพื้นที่ราบด้านตะวันตกของลุ่มน้ำ แม่น้ำสายหลักในลุ่มน้ำ ได้แก่ แม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำบางปะกง เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำหนุมาน และแม่น้ำพระปรงซึ่งรวมกับคลองพระสะทึง โดยทั้งสองสายมาบรรจบกันที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แล้วไหลผ่านอำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอข้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ไปบรรจบกับแม่น้ำนครนายกที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา กลายเป็นแม่น้ำบางปะกงก่อนไหลลงสู่อ่าวไทยที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมแถวศูนย์สูตร ลักษณะพื้นที่ในลุ่มน้ำมีแหล่งเก็บกักน้ำน้อยมากและความสามารถในการระบายน้ำของลำน้ำไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นประจำเกือบทุกปี
จนกระทั่งเมื่อ 2556 ในช่วงระหว่างวันที่ 19-21 กันยายนพ.ศ. 2556 และวันที่ 24-25 กันยายน พ.ศ. 2556 ได้เกิดฝนตกหนักในลุ่มน้ำปราจีนบุรี ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดปราจีนบุรี มีปริมาณน้ำฝนสะสมรวมมากกว่า 200 มิลลิเมตร ทั้ง 2ช่วงเวลา ประกอบกับได้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในลุ่มน้ำคลองพระสะทึง ทำให้ระดับน้ำในแควพระปรงแควหนุมาน และแม่น้ำปราจีนบุรีล้นตลิ่งและไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่เศรษฐกิจ โรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่ชุมชนเป็นจำนวนมากราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอกบินทร์บุรี อำเภอศรีมหาโพธิ และพื้นที่ใกล้เคียง ประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก จากเหตุการณ์ดังกล่าวและจากสภาพต้นน้ำที่ลาดชันกับทั้งมีปริมาณน้ำเก็บกักเพียง3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำท่ารายปี และไม่มีอาคารบังคับน้ำที่เพียงพอ ในทุกปีเมื่อเข้าช่วงฤดูแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีจึงประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำเค็มจากน้ำทะเลหนุนเป็นอย่างมาก
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้เกิด “โครงการประตูระบายน้ำบ้านวังชัน” ขึ้นเพื่อจะช่วยควบคุมอัตราการไหลในแม่น้ำปราจีนบุรีที่ไหลผ่านอำเมืองปราจีนบุรี และอำเภอบ้านสร้าง ให้เหมาะสมสำหรับในช่วงฤดูแล้ง เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเริ่มลดลง ก็สามารถลดบานประตูระบายน้ำลงเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้โดยมีการระบายน้ำออกตามความเหมาะสมเพื่อการใช้ในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็ม
กรมชลประทาน โดยสำนักบริหารโครงการได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท โปรเกรส เทคโนโล คอนซัลแท็นส์ จำกัดบริษัทคอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท เอเชีย คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษา จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดการศึกษาโครงการที่ผ่านมา กรมชลประทานได้กำหนดให้มีการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลและร่วมแสดงความคิดเห็น กรมชลประทานจะนำผลการประชุมมาพิจารณาปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้มีความครบถ้วนต่อไป