กรมทะเลชายฝั่ง เตรียมจัดวางเรือปลดระวาง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต

07 เม.ย. 2566 | 08:31 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2566 | 08:35 น.

กรมทะเลชายฝั่ง เตรียมจัดวางเรือปลดระวาง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต

วันที่ 7 เมษายน 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) ได้มอบหมายให้นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล ในการยื่นขออนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจัดวางเรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ พร้อมเข้าร่วมชี้แจง และให้ข้อมูลต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจังหวัดภูเก็ต 

โดยมีนายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีข้อซักถามเกี่ยวรายละเอียดการดำเนินโครงการและมีมติเห็นชอบการขออนุญาติสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ การจัดวางเรือในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และจัดส่งผลการประชุมเพื่อให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ดำเนินการออกใบอนุญาตต่อไป การจัดวางเรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการัง 

โดยการจัดวางเรือเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับมอบเรือและค่าใช้จ่ายในการจัดวางจากชุมชนชายฝั่ง กลุ่มอนุรักษ์เกาะราชาใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดวางเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มจุดดำน้ำลดผลกระทบจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำในบริเวณแนวปะการังจังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะได้รับอนุญาตและจัดวางได้ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2566 
     
สำหรับเรือลำดังกล่าว เป็นเรือท่องเที่ยวของชุมชนที่ปลดระวาง มีความกว้างขนาด 8 เมตร ความยาวขนาด 40 เมตร และความสูงขนาด 10 เมตร โดยกำหนดวางห่างจากฝั่งประมาณ 200 เมตร อีกทั้ง ยังเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ให้เป็นแหล่งปะการังเทียมเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรประมง ที่จะเกิดประโยชน์ด้านความมั่นคงทางอาหารของชาวภูเก็ต และในภูมิภาคอันดามัน ให้เกิดเศรษฐกิจทรัพยากรประมงทะเลจะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญหล่อเลี้ยงประชากร 


 

และเป็นแหล่งปะการังเทียมจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนชอบดำน้ำที่จะได้รับความนิยม สามารถสร้างรายได้ให้จังหวัดและประเทศได้เป็นอย่างดี พร้อมเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ยั่งยืนใต้ท้องทะเลภูเก็ต ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลให้อุดมสมบูรณ์ ที่ไม่เพียงส่งผลดีต่อชาวประมงพื้นบ้าน แต่ยังเป็นแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ช่วยลดภาระของแนวปะการังธรรมชาติได้อีกด้วย นับเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยจะทำหน้าที่คล้ายแนวปะการังธรรมชาติ เป็นแหล่งอาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำ 

ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะของปะการังธรรมชาติ จึงช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำตลอดจนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่แนวปะการังธรรมชาติ โดยวัสดุที่นำมาจัดทำเป็นปะการังเทียมมีได้หลากหลายชนิด เช่น หินคอนกรีต ตู้รถไฟ รูปปั้น ประติมากรรม ไปจนถึงขาแท่นปิโตรเลียม เป็นบ้านของสัตว์น้ำที่มาอาศัยแพร่ขยายพันธุ์ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ และเป็นโลกใต้ทะเลแห่งใหม่เพื่อการท่องเที่ยวดำน้ำของจังหวัดภูเก็ต สร้างเศรษฐกิจที่ดีสืบต่อไป