วันนี้ (24 เม.ย.66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (24 เม.ย.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 44,960 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 21,020 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,638 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,942 ล้าน ลบ.ม.
ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 24,363 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 8,794 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.36 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 6.35 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯ
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 24 - 26 เม.ย. 66 ในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จะมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ในส่วนของภาคใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตลอดช่วง ทำให้มีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่องในบางพื้นที่ ให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
พร้อมทั้งติดตามสภาพอากาศแนวโน้มปริมาณฝนจากสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนที่กรมชลประทานกำหนด ได้แก่
1.จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี 2.ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก 3.บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 4.กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด และ 5.วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด
พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังประชาชนกลุ่มผู้ใช้น้ำ และทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม