ได้เวลา ‘อุตสาหกรรมอาหาร’ Transformation ชูนวัตกรรมรองรับเทรนด์ ‘อาหารแห่งอนาคต’

18 ก.ย. 2566 | 08:46 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2566 | 08:53 น.

ได้เวลา ‘อุตสาหกรรมอาหาร’ Transformation ชูนวัตกรรมรองรับเทรนด์ ‘อาหารแห่งอนาคต’

ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งข้อมูลฝ่ายเศรษฐกิจและกิจการสังคมสหประชาชาติ ได้ออกรายงาน The World Population Prospects 2019 คาดว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,700 ล้านคนในปี 2050 ทำให้เกิดความกังวลต่อผู้คนทั่วโลกว่า ปริมาณอาหารจะไม่เพียงพอกับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำมาก ๆ ที่เข้ามาช่วยหนุนในการพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารรูปแบบใหม่ กลายเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า SME ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง 

การเกิดภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นหนึ่งในตัวเร่งปฏิกิริยาในการพัฒนาอาหารอนาคตให้เร็วขึ้น เพราะภาวะสงครามฯ ในทั้งสองประเทศ ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อนำไปประกอบอาหารรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ทำให้พืชผลทางการเกษตร อาทิ ราคาข้าวสาลีในเดือนมีนาคม 2565 ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 31 % เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2564  ราคาข้าวโพดที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 32 % ในช่วงเวลาเดียวกัน และจากผลพวงของราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งขึ้นยังทำให้ราคาปุ๋ยปรับสูงขึ้นตามไปด้วย และที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือ ในช่วงเวลาดังกล่าวหลายประเทศมีนโยบายปกป้องตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Protectionism) มีการประกาศกักตุนและจำกัด หรือห้ามการส่งออกกว่า 30 ประเทศ อาทิ อินโดนีเซียจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มชั่วคราว มาเลเซียจำกัดการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและไก่ อินเดียระงับการส่งออกข้าวสาลีเป็นการชั่วคราว เพื่อสำรองวัตถุดิบอาหารและพลังงานไว้สร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับการบริโภคภายในประเทศก่อนการส่งออก

ประกอบกับปัจจัยลบจากความแปรปรวนจากสภาพภูมิอากาศ เกิดสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน เกิดความแห้งแล้งและฝนตกชุก น้ำท่วมในหลายประเทศ ส่งผลต่อพื้นที่เพาะปลูก และผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำทั่วโลก 

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยหนุนว่า ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพัฒนาอาหารอนาคต และหากยิ่งช้า เห็นทีว่าอาจจะเกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหาร ตามรายงานของ Global Report on Food Crises 2022 ล่าสุดระบุว่า ประชากรเกือบ 193 ล้านคน ใน 53 ประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเกือบ 40 ล้านคน 

ศาสตราจารย์ Julian Cribb นักวิทยาศาสตร์ เตือนว่า มนุษย์อาจจะขาดแคลนอาหารในปี 2593 จากสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อการผลิต อีกทั้งจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้น ต้องเพิ่มการผลิตอาหารเพิ่มถึง 50 % ของปัจจุบัน จึงจะสามารถรองรับจำนวนประชากรได้  ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ระบุเมื่อปี 2565 ว่า ดัชนีอาหารโลกปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ  10 ปี และมีแนวโน้มจะต่อเนื่องไปอีก โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารแพงและการขาดแคลนอาหารมากถึง 1,800 คนทั่วโลก 

สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร อันดับที่ 13 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกถึง 1.51 ล้านล้านบาทในปี 2565 โดยคิดเป็นอัตราเติบโต 22% จากปี 2564 นับว่าเป็นประเทศที่มีจุดแข็งในการเป็นครัวของโลก  ล่าสุดปี 2566 ข้อมูลจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว ภาพรวมการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 จะติดลบ แต่ทว่าการส่งออกอาหารขยายตัวเป็นบวกถึง 7.9% หรือคิดเป็นมูลค่า 221,440 ล้านบาท ดังนั้น ลองคิดดูว่าหากไทยสามารถต่อยอดใช้เทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมส่งออกอาหาร จะสร้างได้มหาศาลขนาดไหน 

สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (2023) ระบุว่า นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) สิ่งที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุดคือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างแหล่งอาหารใหม่ ที่เพิ่มผลผลิตได้เร็วกว่า ใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงน้อยกว่าการทำปศุสัตว์แบบเก่า ลดทรัพยากรอาหารในการเลี้ยงดู ที่สำคัญยังให้คุณค่าทางโภชนาการสูงและดีต่อความยั่งยืนของโลก เพราะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างขยะเหลือทิ้ง (Zero Waste) จากกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในปัจจุบันมีการบัญญัติศัพท์ขึ้นและเรียกแหล่งอาหารใหม่ที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างอาหารว่า ‘อาหารแห่งอนาคต’ (Future Food) ทำให้ไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นทางออกของโลก ที่ช่วยให้อิ่มและยังลดปัญหาที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมด้วย 

4 เทรนด์อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) คือ เทรนด์อาหารอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมอาหารโลกที่ต่อยอดกระบวนการผลิตอาหารแบบเดิม ให้ตอบโจทย์การลดสภาวะโลกร้อน สร้างระบบอาหารที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการสูงและดีต่อความยั่งยืนของโลก โดยขอบเขตอาหารอนาคตแต่ละประเภท จะมีความแตกต่างกันไป ได้แก่

1.    เทรนด์อุตสาหกรรม Novel Food หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า “อาหารใหม่” กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความหมายของ “Novel Food หรือ อาหารใหม่” ไว้ 3 ข้อ ดังนี้

- อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี

- อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้น ๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์

- อาหารใหม่ หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุประสงค์ ตามข้อ 1) และ ข้อ 2) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจจะเรียกว่า Novel Food คืออาหารที่ไม่เคยถูกนำมาเป็นอาหารมาก่อน หรือมีการบริโภคน้อยกว่า 15 ปี เป็นอาหารที่ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในการผลิตอาหารนั้น

ตัวอย่าง ของ Novel Food อาทิ เนื้อเทียม (Plant-based Protein) จากโปรตีนทางเลือก ได้แก่ พืช เห็ด และธัญพืชต่าง ๆ เนื้อจากห้องแล็บ (Cultured Meat) การเพาะตัวอย่างเนื้อเยื่อเซลล์สัตว์ให้เพิ่มปริมาณ อาหารนวัตกรรมใหม่ ตัวอย่างเช่น ใช้ Nano Food ทำน้ำพริกกะปิผง ซูเปอร์ฟูด (Super Food) อาหารใหม่ ที่ให้สารอาหารสูงกว่า เช่น แมลง สาหร่าย

2. เทรนด์อุตสาหกรรมส่งเสริมสุขภาพ (Functional Food) คือ อาหารปกติที่มีการใส่คุณประโยชน์ทางโภชนาการเฉพาะเข้าไปส่งเสริมสุขภาพในด้านต่าง ๆ และตัดลดสารอาหารที่ให้ประโยชน์น้อยออกไป เช่น นม Lactose Free สำหรับผู้แพ้นมวัว หรือโปรตีนบาร์เพื่อสุขภาพที่เพิ่มคุณประโยชน์โดยใช้โปรตีนจากผงจิ้งหรีดบด

3. เทรนด์อุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) เทรนด์อุตสาหกรรมแปรรูปที่ผลิตจากวัตถุดิบอาหารที่ได้จากการเพาะปลูกพืชผัก หรือทำฟาร์มปศุสัตว์ ด้วยการใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์ ที่คำนึงถึงการพึ่งพากันของระบบนิเวศทางธรรมชาติทั้งระบบ ลด หรือไม่พึ่งพาสารเคมี ทำให้ได้วัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัยจากสิ่งปนเปื้อน ดีต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

4. เทรนด์อุตสาหกรรม แนวคิดการลดขยะเหลือทิ้ง (Zero Waste Cooking) ทรนด์อุตสาหกรรมอาหารที่คำนึงถึงการลดขยะเหลือทิ้งจากขั้นตอนการสร้างอาหาร ตั้งแต่เพาะปลูก ขนส่ง แปรรูป ปรุงอาหาร ตลอดจนบรรจุภัณฑ์สินค้า เพราะขยะจากอาหารเหลือทิ้งที่ฝังกลบดิน ถึงแม้จะเกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ แต่ก็มีส่วนเพิ่มก๊าซมีเทนที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกที่ส่งผลต่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นเช่นกัน

ฟิวเจอร์ฟู้ด ไฟแนนซ์ เทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหารอนาคตก้าวหน้ามากขึ้นแล้ว และยิ่งต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไปต่อยอดผลผลิตทางการเกษตร ทำให้สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร หรือ FoodTech และ AgTech  เข้ามาเพิ่มโอกาสในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนมากขึ้นตามไปด้วย วงการอาหารในต่างประเทศเริ่มมีการพูดถึง ‘Future Food Finance’ โดยเว็บไซต์ FUTUER FOOD FINANCE.com มีการจัดทำดัชนี FFF FoodTech  ซึ่งเป็นดัชนีที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อติดตามความก้าวหน้า FoodTech และ AgTech ซึ่งช่วยให้นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน สามารถใช้เงินทุนในลักษณะที่ตรงเป้าหมายไปสู่บริษัทที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์สาธารณะที่ดีที่สุด

โดย FoodTech Index นับได้ว่าเป็นดัชนีที่ครอบคลุม ธุรกิจนวัตกรรมในด้านอาหารมากถึง 11 สาขา ไม่ว่าจะเป็น สาขาธุรกิจการส่งอาหาร (Food Delivery) บริการส่งของชำ (Grocery Delivery)  โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein)  การทำฟาร์มแนวตั้ง / ในร่ม (Vertical/Indoor Farming)  บริการชุดอาหาร (Meal Kit Service) การขายปลีกส่ง (Retail Delivery) ผู้ผลิตส่วนผสม (Ingredient Producer) บริษัทด้านการลงทุนด้านฟู้ดเทค (FoodTech Investment Companies)  คลาวด์ คิทเช่น (Cloud Kitchen)  เกษตรดิจิทัล (Digitised  Agriculture) และเศษอาหาร (Food Waste) ยังได้มีมีการจัดอันดับ  15 อันดับ ธุรกิจที่น่าลงทุนทั่วโลก ประกอบด้วย 

 1. OISIX RA DAICHI ORD คิดเป็น 16.682 %
 2. ZEVIA CL A ORD คิดเป็น 10.338 %
 3. DOORDASH CL A ORD คิดเป็น 10.248 %
 4. BEYOND MEAT ORD คิดเป็น 7.995 %
 5. DELIVEROO ORD CLASS A คิดเป็น 7.51 %
 6.DELIVERY HERO ORD  คิดเป็น  6.623 %
 7.AGRONOMICS ORD  คิดเป็น 5.191 %
 8.GRAB HOLDINGS CL A ORD คิดเป็น 5.128 %
 9.AKER BIOMARINE ORD คิดเป็น 5.108 %
 10.BENSON HILL ORD  คิดเป็น  4.33 %
 11.OATLY GROUP ADS REP ORD คิดเป็น 3.939 %
 12.OCADO GROUP ORD คิดเป็น 3.86 %
 13.GINKGO BIOWORKS HOLD CL A ORD คิดเป็น 3.011 %
 14. HELLOFRESH ORD  คิดเป็น 2.571 %
 15.FERMENTALG ORD  คิดเป็น 2.089 %

ทำให้เห็นว่า มีบริษัทผู้ผลิตอาหารอนาคต 2 ราย คือ Beyond Meat และ Deliveroo จากทั้งหมด 15 ราย ที่ได้รับการการันตีว่าเหมาะสำหรับนักลงทุน สะท้อนว่าโอกาสในธุรกิจอาหารอนาคต เป็นหนึ่งในสาขาธุรกิจที่นักลงทุนในธุรกิจอาหารให้ความสนใจและมีโอกาสเติบโตอีกมาก  จากปัจจัยสนับสนุนทั้งความกังวลด้าน ESG ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมุ่งเลือกซื้อสินค้าจากธุรกิจที่ใส่ใจด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ความกังวลด้านสุขภาพ และวิกฤตการขาดแคลนอาหาร  ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนในกลุ่มโปรตีนทางเลือก และการทำสวนแนวตั้ง ซึ่งเป็น 2 ใน 12 กลุ่มในดัชนีนี้ มีมูลค่าตลาดเกือบ  3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 

ประเทศไทยเอง เริ่มเห็นนักลงทุนรายใหญ่ใส่เม็ดเงินเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพด้านอาหาร เพื่อพัฒนาฟู้ดเทค และอาหารอนาคตแล้วหลายราย อาทิ  บมจ. ปตท., บมจ.ไทยยูเนียน โฟรเซ่น, บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และบมจ.เบทาโกร และหากในอนาคต ตลาดการบริโภคอาหารอนาคตเปิดกว้างขึ้น เชื่อมั่นว่าโอกาสทองนี้จะขยายสู่การสร้างนวัตกรอาหารหน้าใหม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน   

สามารถติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ รวมไปถึงบทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จะช่วยให้ข้อคิด แนวคิด และเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ที่ www.Bangkokbanksme.com