วันนี้ (26 ก.ย. 66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (26 ก.ย. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 49,496 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 26,886 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 12,588 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 12,283 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศไปแล้ว 16 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 91 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 5.68 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.71 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 4.82 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มใน 4 ลำน้ำสายหลัก(เจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน และแม่กลอง) ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีมูล มีแนวโน้มลดลง กรมชลประทาน ได้จัดจราจรน้ำ เชื่อมโยงกันตั้งแต่ตอนบนของลุ่มน้ำชี โดยใช้เขื่อนระบายน้ำทั้ง 6 แห่ง ส่วนพื้นที่ตอนกลางได้ยกบานระบายเขื่อนทดน้ำทุกแห่ง ด้านพื้นที่ตอนปลายเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนปากมูลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงต่ำกว่าแม่น้ำมูล ทำให้การระบายน้ำยังทำได้ดี แต่ยังคงเฝ้าระวังติดตามร่องมรสุมที่จะพาดผ่านในช่วงวันที่ 26 - 29 ก.ย. 66 ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักมากในบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 และ 3 มาตราการเพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่ ประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน