องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO มุ่งส่งเสริมการปลูกและฟื้นฟูป่าในพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรม และไม่สามารถจะฟื้นฟูได้ด้วยตัวเอง โดยใช้กลไกคาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจในการส่งเสริมทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่า และระบบนิเวศป่าไม้ ที่ถือเป็นทรัพยากรขั้นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ
โครงการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย หรือ โครงการ T-VER เป็นโครงการคาร์บอนเครดิตที่มีการดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานโครงการคาร์บอนเครดิตในระดับสากล ซึ่งมุ่งเน้นการลดและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกอย่างถาวร รวมถึงการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น
ดังนั้น โครงการใดที่ประสงค์พัฒนาเป็นโครงการคาร์บอนเครดิต จึงต้องมีการดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกหรือก่อให้เกิดการกักเก็บคาร์บอนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องเป็นการดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานโดยปกติทั่วไป และ ต้องไม่ใช่กิจกรรมที่ดำเนินการตามข้อบังคับของกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกต้องเกิดขึ้นอย่างถาวร มีวิธีการคำนวณ การตรวจวัดที่ได้มาตรฐาน และสอดคล้องกับแนวปฎิบัติสากล ต้องผ่านกระบวนการทวนสอบจากบุคคลที่สาม นอกจากนี้การดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบจากการดำเนินโครงการ
โครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ มีอายุโครงการ 15 ปี ซึ่งผู้พัฒนาโครงการต้องดำเนินการปลูก ดูแล อนุรักษ์ป่า จาก พื้นที่รกร้าง หรือป่าเสื่อมโทรมให้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์
ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชนปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ผ่านกลไกคาร์บอนเครดิต โดยที่หน่วยงานรัฐยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่ นอกจากนี้การดำเนินโครงการยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น เพิ่มแหล่งน้ำ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นต้น
กลไกคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Net Zero