คิกออฟโครงการ "ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น1" กสศ.ลุยลดเหลื่อมล้ำการศึกษา

28 พ.ย. 2567 | 07:54 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2567 | 08:05 น.

กระทรวงศึกษาฯ - กระทรวง อว. - กสศ. เปิดโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 กับภารกิจสำคัญ สร้างครูมืออาชีพเพื่อชุมชนห่างไกล พร้อมเปลี่ยนชีวิตเด็กกว่า 60,000 คน และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทยอย่างยั่งยืน

กระทรวงศึกษาธิการจัดงานปฐมนิเทศข้าราชการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "การส่งต่อโอกาสสู่ผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกล" ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ครูรัก(ษ์)ถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่น"

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสำคัญหลายภาคส่วน ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โครงการนี้มุ่งสร้างโอกาสให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลที่มีใจรักในวิชาชีพครู ได้เรียนต่อระดับปริญญาตรีในสาขาที่ขาดแคลน คือ การปฐมวัยและการประถมศึกษา

สำหรับรุ่นแรกมีครูจำนวน 327 คน ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ประจำการสอนใน 285 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่ 44 จังหวัด โดยครูเหล่านี้จะปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนบนภูเขา บนเกาะ ชายแดน พื้นที่ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์

กระทรวงศึกษาธิการได้วางนโยบายสนับสนุนครูและบุคลากรทางการศึกษาหลายด้าน เช่น การพิจารณาความก้าวหน้าในวิชาชีพ การพิจารณาวิทยฐานะสำหรับครูในพื้นที่พิเศษ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส รวมถึงงบประมาณสำหรับการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)

รัฐมนตรีฯ ได้ให้กำลังใจครูรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญความท้าทายในพื้นที่ห่างไกล ทั้งเรื่องความขาดแคลนของนักเรียน ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และความยากลำบากของพื้นที่ โดยครูอาจต้องทำหน้าที่นอกเหนือจากการสอน เช่น การทำอาหารให้เด็ก การดูแลหอพักนอน และการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น พร้อมย้ำว่ายังมีผู้ดูแลใกล้ชิดทั้งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และเครือข่ายครูรุ่นพี่จากโครงการต่างๆ อาทิ คุรุทายาท เพชรในตม ครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และเครือข่ายครูจากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี


ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยว่าโครงการนี้ได้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาทุนมนุษย์และลดความเหลื่อมล้ำ โดยผู้รับทุนสามารถสร้างรายได้มากกว่าครอบครัวตัวเองถึง 5 เท่า และนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลกว่า 60,776 คนได้รับโอกาสจากครูรัก(ษ์)ถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นนวัตกรรมการสร้างโอกาสที่ช่วยค้นพบเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพหรือ "ช้างเผือก" ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถสูง

โครงการนี้จะดำเนินการต่อเนื่องไปอีก 4 ปี (2568-2571) คาดว่าจะมีครูรัก(ษ์)ถิ่นประมาณ 1,500 คน ช่วยโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลราว 1,300 แห่ง โดยครูจะต้องปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างน้อย 6 ปีตามสัญญา ถือเป็นนวัตกรรมการผลิตครูระบบปิดที่จะช่วยลดปัญหาการโยกย้ายครูและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ในการปฐมนิเทศครั้งนี้ยังมีผู้แทนจากหน่วยงานความร่วมมือร่วมบรรยายพิเศษ อาทิ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. และเลขาธิการสภาการศึกษา นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. ดร.ศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ. ดร.สุดา สุขอ่ำ รองเลขาธิการคุรุสภา และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ รวมถึงมีการนำเสนอประสบการณ์จากตัวแทนข้าราชการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 เพื่อแบ่งปันความหวังในการพัฒนาทุนมนุษย์และลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ห่างไกล Copy