ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้าน กิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่จะเกิดการเปลี่ยนผ่านในอีกไม่นานนี้ เลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นเซ็กเตอร์ของโทรทัศน์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคดูรายการผ่านทีวีในลักษณะฟรีทีวีแบบดั้งเดิม (Linear) ที่ออกอากาศตามผังรายการน้อยลง ด้วยบริบทของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะมีช่องทางการรับชมที่หลากหลายขึ้น
โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือวีดีโอสตรีมมิง เข้ามามีบทบาทต่อกลุ่มผู้ชมซึ่งปัจจุบันทุกรายมีแพลตฟอร์มรับชมคอนเทนต์ออนไลน์เป็นของตัวเองพ่วงด้วยแพลตฟอร์มระดับประเทศที่เข้ามามีบทบาทและกินยอดวิวจากผู้บริโภคเป็นเหตุให้กสทช. ได้ริเริ่มและเป็นตัวกลาง ในการเปิดเวทีหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของต้นแบบแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับชาติ ที่จะบูรณาการเนื้อหาจากช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โฆษณา และข้อมูลผู้บริโภคให้อยู่ในระบบเดียวกัน
ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ คือการหาจุดสมดุลของผลประโยชน์ร่วม โดยเฉพาะระหว่างผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 15 ช่อง เปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัล การประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการมีอายุ 15 ปี นับตั้งแต่ 25 เม.ย.2557-24 เม.ย.2572 ทำให้แพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติจะเข้ามารับสอดรับพอดีในช่วงที่ทีวีดิจิทัลสิ้นสุดใบอนุญาต ทั้งนี้ แรกเริ่มมีทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง ผ่านเพียงครึ่งทางภาวะขาดทุนเรทติ้ง คนดูต่ำการเจอพายุดิจิทัลถาโถม ทำให้ที่สุดมี 9 ช่องโบกมือลา เหลือเพียง 15 รายที่เดินหน้าสู่ต่อ อาทิ ช่อง 3 มีแอปพลิเคชัน 3Plus และโมเดลจ่ายค่าสมาชิกผ่าน 3Plus Premium) ช่อง 7 มี BUGABOO TV ช่องโมโน 29 มี MONOMAX และ GIGATV ช่องวัน 31 มี oneD นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มสตรีมมิงอื่น เช่น trueID และ AIS Play นี่ยังไม่รวมบริการ OTT ที่เข้ามาทำตลาดทั้ง Youtube Tiktok และ Facebook Live แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่สะท้อนสภาพที่แท้จริงออกมาอย่างชัดเจนว่าเนื้อหาแบบไหนเป็นหลัก
ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ดังนั้น จากนี้ไป บทบาทการกำกับดูแลของกสทช.จะไม่จำกัดอยู่เพียงเฉพาะแค่ดูเรื่องใบอนุญาตเพราะฉากทัศน์ของอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแค่ช่องทีวีดิจิทัล 15 ช่อง ช่องสาธารณะ 6-7 ช่องเพลย์ทีวีที่เป็น IPTV เท่านั้นแล้ว แต่ยังมีวีดีโอ ออน ดีมานด์ และ วีดีโอ แชร์ริง อีกทั้ง สิ่งที่ผู้บริโภครับชมมากที่สุดผ่านโครงข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมก็คือความบันเทิง หรือเรื่องของ OTT เพราะอนาคตของกิจการโทรทัศน์จะอยู่ที่โทรคมนาคมอย่างแยกกันไม่ออก ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ว่าจะอยู่ในระบบใดหรือจะเป็น OTT ก็ต้องยินยอมให้มีการตรวจสอบ และกำกับดูแลจากกสทช.
เนื่องจาก OTT แม้จะเป็นแพลตฟอร์มต่างชาติ แต่ทำอะไรต้องมีความรับผิดชอบ ดังนั้น เรื่องอำนาจในการกำกับดูแล OTT จึงเป็นประเด็นถกเถียงกันตั้งแต่บอร์ดชุดก่อนที่พยายามเอาโอเปอเรเตอร์ของ OTT เข้ามาสู่ระบบ ด้วยการลงทะเบียนเพื่อให้ทราบว่าผู้ให้บริการเป็นใคร อยู่ที่ไหน โอเปอเรเตอร์อย่ามาอ้างว่า กสทช.ไม่มีอำนาจแต่กสทช.เป็นเรกูเลเตอร์ต้องมีอำนาจเพราะมีกฎหมายที่ชัดเจนซึ่งอยู่ในนิยามของคำว่าโทรทัศน์
ทั้งนี้ ปัจจุบันร่างประกาศเรื่อง OTT ทำเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างรอการบรรจุเข้าพิจารณาของคณะกรรมการฯ มีเนื้อหาสำคัญ 3 เรื่องคือ การคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องเนื้อหาที่เป็นภัยต่อเด็กและเยาวชน และเรื่องการคุ้มครองข้อมูล หรือการคุ้มครองการนำข้อมูลของประชาชนไปใช้ประโยชน์ ให้ออกกฎเกณฑ์นี้ไม่ทันประกาศพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566
โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการด้าน OTT ประมาณ 10 ราย ไปจดทะเบียนกับ ETDA ก่อน ทำให้เกิดความลักลั่นขึ้นมา แทนที่ผู้ประกอบการมาจดทะเบียนกับ กสทช. และอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ กสทช.ออกมา อย่างไรก็ตามหลังจากร่างประกาศนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการต้องกลับมาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของ กสทช.
ทั้งนี้ ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) กับพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีความเชื่อมโยงกัน โดยมีมาตราที่กำหนดไว้ว่าเซ็กเตอร์ของแพลตฟอร์มดิจิทัลใดที่มีกฎเกณฑ์ของตัวเองและมีผู้กำกับดูแลอยู่แล้วก็ให้ขึ้นต่อองค์กรกำกับดูแลนั้น โดยจะมีคณะกรรมการดูแลร่วมกัน
โดยการกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามกฎระเบียบเป็นหน้าที่หลักของการกำกับดูแลซึ่งตรงนี้ชัดเจนว่า กสทช.มีมติตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ว่าบริการวีดีโอ แชร์ริง หรือ วีดีโอ ออน ดีมานด์ เป็นเซอร์วิส โพรวายเดอร์ในแพลตฟอร์มดิจิทัลและเข้านิยามของโทรทัศน์ในกฎหมายของ กสทช.