ธุรกิจภาคก่อสร้าง ชูกลยุทธ์ สู้ ล็อกดาวน์ โควิดรอบใหม่

25 ก.ค. 2564 | 04:08 น.

ธุรกิจรับเหมา - กลุ่มค้าวัสดุก่อสร้าง ตั้งรับ แรงกระแทก ทางเศรษฐกิจ สู้ศึกโควิด-19 "ล็อกดาวน์" รอบใหม่ เจาะกลยุทธ์ SMART- PPS - CPANEL และ BAANDY ดิ้นสร้างการเติบโตสวนวิกฤติ

เกือบ 2 ปี ที่ทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างแรงสั่นสะเทือน ต่อเศรษฐ กิจและธุรกิจแทบทุกสาขา โดยระยะแรกประเทศ ไทยควบคุมสถานการณ์ได้ดี ภาคธุรกิจเริ่มลืมตาอ้าปากได้  แต่การกลับมาระบาดรอบใหม่ และลุกลามแบบ ‘ซูเปอร์สเปรดเดอร์’ ทำให้หลายธุรกิจหยุดชะงักและขาดรายได้หล่อเลี้ยงกิจการอีกครั้ง 

 

ธุรกิจก่อสร้าง เป็นธุรกิจหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากประกาศคำสั่งปิดแคมป์แรงงาน หยุดก่อสร้าง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ใน 4 จังหวัดภาคใต้  30 วัน รวมถึงห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราว

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบสุทธิในด้านมูลค่า ครอบคลุมธุรกิจก่อสร้าง, ร้านอาหารและเครื่องดื่มใน 6 จังหวัด (กทม.และปริมณฑล) จากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ 1 เดือน สูงราว 40,000 ล้านบาท หรือ 0.25% ของจีดีพี (การเติบโตทางเศรษฐกิจไทย) ขณะมาตรการบรรเทาผลกระทบธุรกิจของรัฐบาล เพื่ออุ้มสภาพคล่อง ยังมีปัญหาไม่ครอบคลุมถูกต้อง 

 

‘ฐานเศรษฐกิจ’ ตรวจสอบ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างหลายราย พบภายใต้วิกฤติ แต่ยังมีโอกาสเข้ารับงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมต่างคาดการณ์ตรงกันว่า สถานการณ์จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หากมีการใช้วัคซีนที่ได้ผล และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ 

 

สมาร์ทรับอานิสงส์โครงการรัฐ

นายรังสี ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ทคอนกรีต จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายอิฐมวลเบางานก่อสร้างและงานกั้นผนังอาคาร กล่าวว่า จากประกาศคำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง ส่งผลกระทบกับบริษัทเล็กน้อยในระยะสั้น จากการชะลอการก่อสร้าง ภาครัฐ-เอกชนบางโครงการ ซึ่งภายหลังมีการผ่อนปรนมาตรการ ทำให้บริษัทกลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง ขณะนี้มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มผู้รับเหมา ร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง งานก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก และภูมิภาคอื่น ๆ ที่ไม่มีมาตรการจำกัด ซึ่งการที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นผ่านโครงการต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น

 

สัดส่วนการขายนั้น ยังเน้นไปยังงานโครงการภาครัฐ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานของทางภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล และสำนักงานศาลยุติธรรม บริษัทยังได้รับปัจจัยบวกจากการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนในเขตพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ตั้งของโรงงาน ที่มีการลงทุนทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการลงทุนก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

 

“ที่ผ่านมา ปรับแผนและวางกลยุทธ์ รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การตลาดผ่านออนไลน์, พัฒนาระบบการจัดส่งสินค้าให้รวดเร็ว และปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน เจาะกลุ่มลูกค้า บริษัทสถาปนิก และกลุ่มผู้รับเหมาเพิ่มมากขึ้น โดยเชื่อหากรัฐบาลเร่งฉีดวัคซีน จะส่งผลดีต่อธุรกิจและภาคเศรษฐกิจโดยรวม เพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุน และกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดเม็ดเงินได้อีกครั้ง”        

ธุรกิจภาคก่อสร้าง ชูกลยุทธ์ สู้   ล็อกดาวน์  โควิดรอบใหม่   

PPS คุมต้นทุนปรับสัดส่วนลูกค้า 50:50

ด้านนายพงศ์ธร ธาราไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (PPS) ธุรกิจวิศวกรที่ปรึกษาให้บริการด้านบริหารและควบคุมการก่อสร้างงานแขนงต่าง ๆ กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด -19 ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง บริษัทจึงต้องปรับกลยุทธ์ ขยายขอบเขตการรับงาน พัฒนาบริการเสริม รวมถึงการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการต่อยอดทางธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ทดแทน รวมถึงสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ จากมาตรการการปิดไซต์งานก่อสร้าง มีผลกระทบระยะสั้นเช่นกัน เนื่องจากโครงการก่อสร้างที่บริษัทควบคุมงาน เกี่ยวเนื่องเชิงโครงสร้าง จึงได้รับการยกเว้น อย่างไรก็ตาม เตรียมความพร้อมเพื่อยื่นเสนองานภาครัฐ ที่จะออกมาตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการที่ทยอยลงทุนหลายงาน และบริษัทหวังจะได้รับส่วนแบ่งจากงานกลุ่มนี้เพิ่มเติม โดยปี 64 ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนงานภาครัฐเป็น 50% ภาคเอกชน 50% จากปี 63 ที่สัดส่วนงานภาครัฐอยู่ที่ 30% ภาคเอกชน 70%

 

“บริษัทมุ่งเน้นลดค่าใช้จ่าย ควบคุมต้นทุนจากการดำเนินงาน เพื่อสร้างการเติบโตแง่รายได้และกำไร ขณะเดียวกัน พัฒนาบริการเสริม Project visualization โปรแกรมการสร้างภาพเสมือนจริง ที่สามารถเข้าไปชมพื้นที่แบบจำลอง รองรับการออกแบบฟังก์ชั่นการตกแต่ง และสามารถเลือกเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ภายในบ้าน ให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ช่วยให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น”  

 

โควิดดันพรีคาสท์โตแรง

ขณะนายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) CPANEL ผู้นำการผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast)  กล่าวว่า ในภาวะอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจ มีผลเล็กน้อย เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการเติบโต อีกทั้งมีการขยายโครงการออกต่างจังหวัดมากขึ้น จึงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยผนัง Precast กลับได้รับความนิยมมากขึ้น ในช่วงโควิด-19 ที่มีการประกาศมาตรการเข้ม เช่น การจำกัดจำนวนคนในพื้นที่  ซึ่งผนังคอนกรีต จะสามารถลดต้นทุนแรงงานประมาณ 50% อีกทั้ง สามารถแก้ปัญหางานก่อสร้าง ช่วยลดสต๊อก ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการก่อสร้าง (รวมงาน Finishing) ประมาณ 30% ส่งผลให้ต้นทุนรวมของการก่อสร้างลดลง 15% 

 

“ในอนาคต Precast จะเข้ามาทดแทนการก่อสร้างรูปแบบเดิมมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างบ้านแนวราบ ประมาณการณ์ปีละ 3% โดยสถานการณ์โควิด-19 เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ ทำให้ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีการขนส่งทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น บริการส่งถึงบ้าน หรือ ระบบขนส่งมวลชนจะเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ประชากรกระจายตัวออกไปอยู่นอกเมือง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีความต้องการบ้านแนวราบมากขึ้น” 

วิกฤติปูทางโอกาสแอปขายวัสดุ-อุปกรณ์

นายณัฏฐ์นวัต พันธุกรกวีวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ บานดี้ จำกัด ผู้พัฒนา BAANDY แอปพลิเคชัน แพลตฟอร์มซื้อ-ขายวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านครบวงจร กล่าวว่า ธุรกิจวัสดุก่อสร้างเป็นหัวใจหลักของบริษัท ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 รอบนี้ มีการระบาดในวงกว้าง ส่งผลต่อปัจจัยเชิงบวกให้ธุรกิจออนไลน์ ได้รับความสนใจมากขึ้น มีการค้นหาข้อมูลเพิ่มขึ้นในแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงถือเป็นโอกาสที่อยู่ในวิกฤติของบริษัท  โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัทอยู่ในต่างจังหวัด

 

ขณะผู้รับเหมารายย่อย หันมาสนใจซื้อวัสดุก่อสร้างผ่านแพลตฟอร์มมากขึ้น เพราะวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีเสปคจำกัดไว้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเลือกเยอะ การซื้อผ่านแพลตฟอร์มจึงเป็นทางเลือกที่ดี 

 

“ในช่วงวิกฤติทุกคนต้องเตรียมความพร้อมให้ดี บริษัทเองใช้เวลานี้มุ่งมั่นทำระบบให้ดีขึ้น เพราะเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เราจะได้พร้อมออกตัวทำธุรกิจกันได้ทันที มุ่งเน้นขายของถูกและดี เพิ่มโปรโมชั่นในสินค้าที่จำเป็น เพื่อหวังก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยกัน” 

 

หน้า 20 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,699 วันที่ 25 - 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564