การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เดินหน้าคัดเลือกผู้รับเหมาดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มระยะที่2(ตะวันตก)ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ โดยมีเป้าหมายก่อสร้างในช่วงต้นปี2566 และแล้วเสร็จภายในปี2570 มีเป้าหมายเชื่อมโยงโครงข่ายเป็นเนื้อเดียวกับสายส้มระยะที่1(ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม -มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ก่อสร้างรอไว้อยู่ก่อนหน้า
ช่วยกระชับ การเดินทางให้คนทั้งสองฝั่งของกรุงเทพมหานคร(กทม.)ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก กำหนดระยะเวลาเดินทางได้อย่างแม่นยำ คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการมากกว่า3แสนคนต่อวันเนื่องจาก สายสีส้มเป็นระบบรถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy Rail) รองรับการเดินทางได้คราวละค่อนข้างมาก มีระยะทางค่อนข้างยาว สามารถเปลี่ยนถ่ายการเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าระบบเดียวกันหรือต่างระบบได้หลายเส้นทาง
จุดเด่นสำคัญของแนวเส้นทางจะตัดผ่านโซนกรุงเทพฯชั้นใน ชุมชนขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ยุทธศาสตร์สำคัญในการดึงนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างชาติให้เข้าถึงแหล่งวัฒนธรรมโบราณสถาน สถาปัตยกรรมเก่าแก่อันล้ำค่า วัด-เวียง-วัง สถานที่สำคัญหลายแห่งรวมทั้งสถานบันเทิงถนนข้าวสารบริเวณใกล้เคียงได้อย่างยั่งยืน
รวมถึงการจุดพลุทำเลทอง ให้เกิดการพัฒนาเมืองไปตามแนวเส้นทาง รอบสถานีรถไฟฟ้าก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ทั้งการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสมผสาน หรือมิกซ์ยูส อยู่อาศัย พาณิชยกรรมอาคารสำนักงานโรงแรม ห้างสรรพสินค้า กระจายความเจริญในหลายพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งการจับจองทำเลรอพัฒนาและ ขึ้นโครงการดักรอล่วงหน้า ก่อนรถไฟฟ้าจะไปถึง ฉุดให้ราคาที่ดินวิ่งแซงหน้าไปก่อนเช่นกัน
ขณะผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่4 ที่จะประกาศใช้ในราวปี2567 หลังล้าช้าจากการที่ต้องนับหนึ่งใหม่เพื่อปฏิบัติตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การผังเมืองพ.ศ.2562 ที่บังคับใช้แทนกฎหมายผังเมืองปี 2518 ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางกทม.ได้ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดย่านพาณิชยกรรมรองชุมชนชานเมือง ในหลายจุด
เชื่อมโครงข่ายรถ-ราง-เรือ กระจายความเจริญ ก่อให้เกิดการสร้างแหล่งงานสร้างอาชีพ ห้างค้าปลีก ใหม่ๆ คอมมูนินี้มอลล์ ควบคู่ไปกับการอยู่อาศัย โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาใช้บริการกระจุกตัวในเมือง สร้างปัญหาจราจรติดขัด โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก ที่ผังเมืองกำหนดให้ บริเวณสถานีปลายทาง มีนบุรี เป็นเมืองใหม่
เปิดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่สีแดง ประเภทพาณิชยกรรม รองรับการขยายตัวของเมือง ประชาชนคนรุ่นใหม่ที่จะขยับเข้ามา ซึ่งย่านดังกล่าวจะมีทั้งอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า การพัฒนาที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม นอกจากบ้านแนวราบหรืออาจพัฒนาเป็นศูนย์ราชการในย่านนั้นเช่นเดียวกับโซนบางขุนนนท์ไปจนถึงตลิ่งชันสามารถเนรมิตเป็นเมืองรองรับคนทำงานอยู่อาศัยชั้นดีและย่านพาณิชยกรรมขนาดย่อมได้
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกทม.มองว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกมีศักยภาพสูง เพราะตัดผ่านในย่านสำคัญของกรุงเทพฯ มีขีดความสามารถพาคนจำนวนมากจากชานเมืองเคลื่อนเข้าสู่ ใจกลางเมือง และรับส่งผู้โดยสารระหว่างทาง มุ่งหน้าไปยังย่านพระราม9 – รัชดาภิเษก ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ หรือนิวซีบีดีที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรืออาจเปลี่ยนถ่ายเส้นทางไปย่านสุขุมวิท สีลม สาทรได้
ส่วนราคาที่ดิน ย่านมีนบุรีสถานีปลายทาง ราคา 2แสนบาทต่อตารางวาแนวโน้มขยับไปที่4-5แสนบาทต่อตารางวาเนื่องจากเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่จะเปิดให้บริการปี2566 ปัจจุบันจากการสำรวจพื้นที่พบว่ามี โชว์รูมวัสดุก่อสร้าง บ้านแนวราบคอนโดมิเนียมระดับบิ๊กแบรนด์ เกิดขึ้น
อีกทั้ง มีกระแสข่าวว่า บริเวณดังกล่าวจะมีห้างยักษ์เดอะมอลล์เตรียมไปปักหมุด แนวโน้มจะสร้างความเจริญที่นั่นอย่างมาก รวมถึงเจ้าถิ่น บริษัทพร็อพเพอร์ตี้เฟอร์เฟค จำกัด(มหาชน) ที่ระบุว่า มีที่ดินในโซน รามคำแหง ไปทางมีนบุรี ไม่ต่ำกว่า1,000ไร่ โดยมีแผนพัฒนาทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและ แนวสูง เช่นเดียวกับ บมจ.สัมมากร มีแผนนำที่ดินริมทะเลสาบภายในอาณาจักรสัมมากร รับการมาของรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ราคาที่ดินก่อนหน้าที่จะมีรถไฟฟ้าราคา7หมื่นบาทถึง1แสนบาทต่อตารางวาแต่ปัจจุบันราคาวิ่งไปไกลเกินกว่า 2แสนบาทต่อตารางวา เช่นเดียวกับรามคำแหงตอนต้นและบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงมี ดีเวลอปเปอร์ซื้อที่ดินปักหมุดรอ ตลอดแนวพลิกโฉมตึกแถวเก่าหน้ากลายเป็นเมืองคอนโดมิเนียม
ขณะราคาที่ดิน บริษัท วิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ คอลลิเออร์ส ประเทศไทย เคยประเมินไว้เมื่อปีที่ผ่านมาบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง อยู่ที่ 7แสนบาทต่อตารางวา ซึ่งปัจจุบันอาจขยับเพิ่มไปมากกว่านี้
ทำเลที่น่าจับตา สถานีหัวหมาก ค่ายศุภาลัย เข้ามาบุกเบิกในยุคต้นๆซื้อแฟลตเก่ากว่า10ไร่ ทุบทิ้งพลิกโฉมขึ้น โครงการศุภาลัย เวอเรนด้า รามคำแหงและคอมมูนิตี้มอลล์ บริเวณ เช่นเดียวกับ ค่ายเสนา พฤกษา ที่ฮอตฮิตคือจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางสถานีลำสาลี สี่แยกจุดตัดถนนศรีนครินทร์ กับถนนรามคำแหง ในพื้นที่เขตบางกะปิ มีรถไฟฟ้าพาดผ่าน3เส้นทาง ทั้ง สายสีส้ม สายสีเหลือง และสายสีน้ำตาล
ที่เวลานี้มีกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากฮ่องกง ริสแลนด์ ประเทศไทย เข้ามาพัฒนาเมืองThe Livin รามคำแหง เจาะตลาดใหม่ในย่านรามคำแหง โดยกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัย และวัยทำงาน ในระดับราคาเริ่มต้น1ล้านบาทปลายๆ เป็นต้น ปัจจุบันสายสีส้มตะวันออกบริเวณสถานีลำสาลีได้คืนผิวจราจรจากการก่อสร้างเรียบร้อยแล้วเพียงรอเวลาได้ผู้เดินรถ มากดปุ่มเชื่อมการเดินทางเท่านั้น
สำหรับ แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากจุดตัดทางรถไฟสายธนบุรี (สายใต้เดิม) ใกล้แยกบางขุนนนท์ กับถนนจรัญสนิทวงศ์ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ ผ่านย่านที่สำคัญในพื้นที่เมืองเก่าเขตดุสิต และเขตพระนคร ผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่ง
เช่น โรงพยาบาลศิริราช ท้องสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเข้าสู่ย่านการค้าใจกลางเมืองบริเวณแยกประตูน้ำ แล้วมุ่งขึ้นทางเหนือเข้าสู่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร และศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแห่งใหม่ (อาคารธานีนพรัตน์) ชุมชนประชาสงเคราะห์ ออกสู่ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 9 และถนนรามคำแหง
สิ้นสุดโครงการบริเวณชานเมืองทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดถนนรามคำแหงกับถนนสุวินทวงศ์ หรือมีนบุรี รวมระยะทาง35.9 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เน้นการขนส่งผู้โดยสารจากชานเมืองทิศตะวันออกเข้าสู่ใจกลางเมืองและย่านเมืองเก่าทางทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วและจุดประกายทำเลทองแห่งใหม่ ที่น่าจับตายิ่ง ตลอดเส้นทาง