ปลุกผี! 5 พื้นที่ ศก.ชายแดน หนุนลงทุน

05 ต.ค. 2560 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2560 | 17:13 น.
ปลุกเขต ศก.ชายแดน! ชง “บิ๊กตู่” เปิดประมูล 5 พื้นที่เดือน ธ.ค. นี้ ทั้ง “แม่สอด-นครพนม-เมืองกาญจน์” พ่วง “มุกดาหาร-หนองคาย” ที่เปิดเป็นรอบ 3 หลัง “ซีพี” เมิน ไม่ตอบโจทย์

“โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” เป็นนโยบายที่รัฐบาลนี้ผลักดันให้เกิดการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด แต่ผ่านมาร่วม 3 ปี กลับมีความคืบหน้าน้อยมาก ต่างจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ล่าสุด กรมธนารักษ์ คาดว่า ในเดือน ธ.ค. นี้ น่าจะเปิดให้เอกชนประมูลที่ดินที่ราชพัสดุเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนรวดเดียว 5 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก 1,257 ไร่, นครพนม กว่า 1,800 ไร่, กาญจนบุรี 500 ไร่ จากกว่า 2,000 ไร่, มุกดาหาร 1,080 ไร่ และหนองคาย 714 ไร่ โดยจะได้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบ

ทั้งนี้ “แม่สอด, กาญจนบุรี และนครพนม” ล่าสุด เคลียร์พื้นที่แล้ว โดยเฉพาะ “แม่สอด จ.ตาก” เดิมติดชาวบ้านบุกรุก ส่วนอีก 2 พื้นที่ คือ มุกดาหารและหนองคาย คาดว่า จะนำกลับมาประมูลใหม่เป็นรอบที่ 3 ในเดือน ธ.ค. เพราะล่าสุด เอกชนที่ชนะประมูลติดเงื่อนไขคุณสมบัติ ไม่มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาได้ จึงเสนอต่อบอร์ด กนพ. เห็นชอบให้เปิดประมูลใหม่ ขณะเดียวกัน นักลงทุนรายใหญ่อย่าง “ค่ายซีีพี” ที่ซื้อซองไป กลับไม่ยื่นประมูลทั้ง 2 พื้นที่ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ตอบโจทย์การลงทุน


app-tp4-3068-a

แหล่งข่าวจาก “กรมธนารักษ์” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เพื่อกระตุ้นการลงทุนจริง กรมธนารักษ์มีแนวคิดออกมาตรการกระตุ้น ถ้าเอกชนลงทุนก่อสร้างจริง เพียง 10% ของมูลค่าโครงการ ได้รับสิทธิเว้นค่าเช่า 2 ปี หลังทำสัญญาเช่า แม้กรมจะไม่มีรายได้จากค่าเช่า แต่จะได้ภาษีจากการลงทุนและการจ้างงาน นอกจากนี้ สำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่อาจจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่ม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา

ส่วนพื้นที่ อ.แม่สาย ขณะนี้ทางจังหวัดอยู่ระหว่างเจรจากับโรงงานยาสูบ เพื่อขอใช้ที่ดิน 800 ไร่ พัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากโรงงานยาสูบอ้างว่า ยังใช้พื้นที่ โดยให้ชาวบ้านเช่าปลูกยาสูบป้อนโรงงานกว่า 500 หลังคาเรือน หากไม่ได้ที่ดินแปลงดังกล่าวจริง เอกชนสามารถลงทุนในพื้นที่ตนเองได้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศพื้นที่ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.เชียงราย เนื้อที่ 1,523 ตารางกิโลเมตร หรือ 952,226 ไร่ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนในที่ดินให้เช่าที่รัฐจัดหาให้ เพียงแต่ต้นทุนที่ดินจะสูงกว่า แต่ได้รับสิทธิ์ส่งเสริมการลงทุนเหมือนกัน

ส่วนพื้นที่ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าพื้นที่ ได้แก่ สระแก้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่สงขลา ทั้ง 2 แปลง, แม่สอดแปลงเล็ก 1 แปลง 800 ไร่, กาญจนบุรี กว่า 1,000 ไร่ และนราธิวาสเป็นที่ดินเอกชนที่ กนพ. มีมติให้ กนอ. ซื้อและลงทุน

ด้าน นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา ผู้เชี่ยวชาญระดับ 12 กนอ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างของบประมาณปี 2561 พัฒนานิคมอุตสาหกรรมบนที่ราชพัสดุ เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา วงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนแปลงแม่สอดเนื้อที่ 800 ไร่ ยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาผู้บุกรุก ขณะที่ สระแก้วปรับพื้นที่เรียบร้อยแล้ว เตรียมก่อสร้าง ส่วนแผนซื้อที่ดินเอกชน 2,200 ไร่ เพื่อพัฒนานิคมเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส อยู่ระหว่างของบกว่า 2,000 ล้านบาท และกำลังต่อรองราคากับเอกชน

นายภมร เชาว์ศิริกุล ประธานหอการค้า จ.มุกดาหาร กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจมุกดาหารไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ ราคาที่ดินขยับแล้วไม่ลง อย่างไรก็ดี มองว่า เมืองชายแดนมีศักยภาพการค้าชายแดนและค้าข้ามแดนในตัวเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนโดยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนการประมูลหาเอกชนลงทุนเข้าไปพัฒนาที่ราชพัสดุของมุกดาหารและหนองคาย ขณะนี้ไม่มีเอกชนสนใจ เชื่อว่า กนอ. น่าจะเข้ามาดำเนินการ

ดร.เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด จ.ตาก เผยว่า การพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด) ตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก จำเป็นต้องมีสร้างทางพิิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ นครแม่สอด-เมืองตาก เนื่องจากทางหลวงหมายเลข 12 ไม่เอื้อต่อการขนส่งสินค้าที่มีจำนวนมาก โดยเบื้องต้นกำหนดการศึกษา 3 แนวทาง เจาะอุโมงค์ 3 จุด ระยะทางในอุโมงค์แต่ละแห่ง 9-10 กิโลเมตร โดยรูปแบบอุโมงค์นั้น จะมี 2 ช่องทางจราจร ไป-กลับ 4 ช่องทางจราจร และมีอุโมงค์เล็กทุก ๆ ระยะ 250 เมตร เพื่อหลบภัย หากเกิดกรณีฉุกเฉิน โดยจุดออกด่าน อ.แม่สอด นั้น ควรอยู่ที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏแม่สอด

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5-7 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1