ผ่าตัดใหญ่! ผัง กทม. จ้างที่ปรึกษาทำแผนแม่บท 3 จุดใหญ่ คง-ลด “ฟลัดเวย์” โซนตะวันออก-ตก 249 ตารางกิโลเมตร กำหนดโซนโลจิสติกส์-ขายโอนสิทธิ์แนวดิ่ง
เข้มข้นขึ้นตามลำดับ สำหรับการปรับปรุงผังเมืองรวมครั้งที่ 4 ที่จะบังคับใช้แทนผังเมืองฉบับปี 2556 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ล่าสุด อยู่ระหว่างจ้างบริษัทเอกชนศึกษาวางกรอบปฏิบัติ คาดว่าจะเสนอผลศึกษาแต่ละส่วนได้ราวปลายเดือน พ.ย. ถึง ต้นเดือน ธ.ค. นี้
ต่อเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผังเมืองในกรอบใหญ่ กทม. ได้จ้าง บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริหารจัดการการวางผังทั้งระบบ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เช่น รถไฟฟ้า โครงข่ายถนนที่พาดผ่านพื้นที่ ขณะเดียวกัน ได้แบ่งโซนศึกษา 3 กลุ่มกิจการ เพื่อจัดทำผังแม่บท ก่อนบรรจุลงผังเมืองรวมฉบับใหม่
เริ่มจาก กลุ่มวางผังพัฒนาพื้นที่ตะวันออก ได้ศึกษามาตรการทางผังเมืองที่เหมาะสม ในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมของ กทม. (พื้นที่เขียวลาย) ซึ่งปัจจุบัน ผังเมืองกำหนดให้เป็น ‘ฟลัดเวย์’ หรือ ทางระบายน้ำจากทางตอนเหนือกรุงเทพฯ ระบายลงสู่อ่าวไทย เพื่อป้องกันน้ำท่วม ตามแนวพระราชดำริของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ห้ามพัฒนาเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย โซนตะวันออก พื้นที่บางบริเวณของเขตลาดกระบัง, เขตคลองสามวา, เขตมีนบุรี และเขตหนองจอก โซนตะวันตกตอนบน พื้นที่บางบริเวณของเขตทวีวัฒนา, เขตตลิ่งชัน, เขตภาษีเจริญ และเขตบางแค โซนตะวันตกตอนล่าง เขตบางขุนเทียน, ชายทะเลบางขุนเทียน พื้นที่รวม 249.74 ตารางกิโลเมตร หรือ 156,087.5 ไร่ ซึ่งล่าสุด ได้จ้าง บริษัท ฟลัดเวย์ จำกัด และบริษัท เอชทูโอคอนซัลท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสม พร้อมหาทางออกว่า 1.ควรคงพื้นที่ทั้งหมดเป็นฟลัดเวย์เช่นเดิม 2.ลดพื้นที่ฟลัดเวย์ลง เพื่อลดการรอนสิทธิ์ให้พัฒนาได้เต็มศักยภาพ 3.ยกเลิกฟลัดเวย์ทั้งหมด หากมีการขุดคลองระบายน้ำแล้ว เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ นักอนุรักษ์ที่ต้องการคงพื้นที่ฟลัดเวย์ไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วม และยังต้องการให้คงพื้นที่เกษตรไว้ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนบนของโซนตะวันออก ขณะที่ ผู้ประกอบการต้องการนำที่ดินมาพัฒนา โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบัน แนวฟลัดเวย์น้ำไม่ท่วม แต่กลับมีความเจริญรอบด้าน ทั้งสนามบิน, รถไฟฟ้า, โครงข่ายถนน ทำให้ราคาที่ดินแพง ทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
ขณะที่ กลุ่มวางผังพัฒนาพื้นที่โซนตะวันตก ได้ว่าจ้าง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์แมเนจเมนท์ จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด วางผังแม่บทโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการขนส่งสินค้า ซึ่งเดิมกำหนดไว้บริเวณเขตทวีวัฒนา แต่ผู้ประกอบการต้องการขยับเข้ามาอยู่ในเขต กทม.ชั้นกลางและชั้นใน เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ขณะที่ ชาวบ้านต้องการให้อยู่นอกเมืองแก้ปัญหารถติด อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาจะทำหน้าที่ศึกษาว่า พื้นที่ที่เหมาะสมควรเป็นจุดไหน นอกจากนี้ บริษัทดังกล่าวยังต้องวางระบบขนส่งโลจิสติกส์ทั้งระบบใน กทม. อีกด้วย
สำหรับกลุ่มวางผังพัฒนาพื้นที่ตอนกลาง จะรับผิดชอบเกี่ยวกับการถ่ายโอนสิทธิการพัฒนา เพื่อแลกเปลี่ยนกับโซนที่สามารถพัฒนาโครงการไฮเอนด์ได้ เช่น พื้นที่น้ำท่วม พื้นที่ฟลัดเวย์ ที่ผังเมือง กทม. กำหนดให้เป็นพื้นที่เขียวลาย, พื้นที่อนุรักษ์โบราณสถาน ไม่สามารถพัฒนาได้ ฯลฯ ซึ่งกฎหมายผังเมืองรอนสิทธิ์ แต่ต่อไป พื้นที่ที่ถูกรอนสิทธิ์ห้ามพัฒนา สามารถขายสิทธิแนวดิ่งที่เป็นอากาศให้กับผู้ประกอบการที่มีที่ดินอยู่ในย่านใจกลางเมืองได้ นอกจากนี้ ยังศึกษาหน่วยการพัฒนาขนาดใหญ่ คล้าย ๆ โครงการจัดสรร
อย่างไรก็ดี
แม้ผังเมืองทั่วประเทศรวมถึงผังเมืองรวม กทม. จะไม่มีวันหมดอายุเหมือนในอดีตก็ตาม แต่ กทม. ต้องปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดรับกับข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะโซนฟลัดเวย์ แต่หากคณะกรรมการผังเมือง โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองไม่เห็นด้วย ก็สามารถนำมาปรับแก้ได้ และใช้ผังเมืองรวม กทม. ปี 2556 ต่อไป จนกว่าผังใหม่จะมีผลบังคับใช้ คาดว่าอีกไม่เกิน 1-2 ปีนี้
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,309 วันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 2560 หน้า 29
| ข่าวที่เกี่ยวข้อง |
1-
โจรสลัดอันดามัน : เร่งแก้น้ำท่วมซ้ำซาก