thansettakij
อสังหาฯอุดรช้ำ  LTV ดันปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง100%

อสังหาฯอุดรช้ำ  LTV ดันปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง100%

08 พ.ย. 2562 | 23:45 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2562 | 06:51 น.

มาตรการLTV สัดส่วนเงินกู้ต่อมูลค่าบ้าน ที่ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) บังคับใช้เมื่อ วันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบค่อนข้างชัดเจนต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในจังหวัดอุดรธานี มียอดถูกปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และประเมินว่าน่าจะกระทบทั่วทั้งประเทศ

 

LTV ดันรีเจ็กต์พุ่ง100%

 

นายณัฐวัชร สวนสุจริตอุปนายกสมาคมอสังหา ริมทรัพย์จังหวัดอุดรธานีระบุว่าอสังหาริม ทรัพย์ ปี 2562 ต้องเผชิญผลกระทบ LTV ที่เข้มงวดจากเดิมอัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 25-30% แต่หลังจากที่ได้เริ่มใช้มาตรการนี้ อัตราการถูกปฏิเสธ เพิ่มขึ้น เป็น 40 - 50% หรือ เกือบ 100% โดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 จะกู้ไม่ได้ค่อนข้างสูง แต่สิ่งที่น่าสนใจนั่นคือ อัตราการเข้าชมโครงการที่อยู่อาศัยยังไม่ลดลงกลับมีเพิ่มมากขึ้น สะท้อนว่าผู้บริโภคมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแต่ไม่สามารถซื้อได้เกิดจากปัจจัยหลักหนี้ครัวเรือนสูง และเจอมาตรการ LTV เสมือนโดนศึก 2 ด้าน

อสังหาฯอุดรช้ำ  LTV ดันปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง100%

 

ลดโอนบ้านตํ่าล้านไม่ช่วย

 

อย่างไรก็ตาม อสังหาริมทรัพย์ ช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2562 ดูเหมือนจะเริ่มดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีมติลดค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2% ลดลงเหลือ 0.01% และลดค่าจดจำนองจาก 1% ลดลงเหลือ 0.01% ซึ่งมีผลเริ่มใช้ตั้งแต่ วันที่ 24 มิถุนายน 2562-31 พฤษภาคม 2563 สำหรับบ้านที่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ปรากฏว่าโครงการของภาคเอกชนส่วนใหญ่จะมีระดับราคาที่สูงกว่า 1 ล้านบาท ยกตัวอย่างในจังหวัดอุดรธานี ทาวน์โฮม 2 ชั้น จะมีราคาขายเฉลี่ยที่ 1.5 -2 ล้านบาท บ้านแฝด และบ้านเดี่ยว 2 ชั้น จะมีราคาขายเฉลี่ยที่ 3 - 3.5 ล้านบาท และคอนโดฯจะมีราคาขายเฉลี่ยที่ 1.5 -2 ล้านบาท นั่นหมายถึง จะไม่ได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นของภาครัฐ และจะมีโครงการ ของท้องถิ่นที่พยายามปรับตัว ทำโครงการบ้านในระดับราคา 1-2 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อในระดับราคานี้ และเพื่อเร่งการโอนให้ได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 แต่ก็ไม่มากเท่าไหร่ เมื่อเทียบ กับภาพรวมบ้านในสต๊อกที่ยังเหลือ ขาย และต้องเร่งระบายออกให้เร็ว ในภาพรวมจึงยังชะลอตัว

 

แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2563 คาดว่าจะชะลอตัว บ้านในตลาดยังเหลืออีกมาก โดยเฉพาะบ้านระดับราคา 3-5 ล้านบาท ในสต๊อกที่สร้างเสร็จแล้ว การพัฒนาโครงการใหม่ จะมีการชะลอตัวหลายโครงการเพื่อรอจังหวะที่เหมาะสม ทั้งๆที่ ได้รับใบอนุญาตจัดสรรแล้ว และการพัฒนาโครง การใหม่ คงต้องคำนึงถึงเรื่องรูปแบบบ้านและระดับราคาขาย ตามความต้องการของตลาด และกำลังซื้อเป็นเรื่องสำคัญ รูปแบบการพัฒนาโครงการใหม่จะมีบ้านระดับราคาขายที่ 1-2 ล้านบาท เพิ่มมากขึ้น ตามกำลังซื้อในตลาดผู้บริโภค ส่วนโครงการคอนโดฯ ในจังหวัดอุดรธานี ยังไม่มีการพัฒนาโครงการเกิดขึ้น

หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,520 วันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน 2562

                    อสังหาฯอุดรช้ำ  LTV ดันปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง100%