สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ธุรกิจการส่งออก การบริโภคได้รับผละทบ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีการหดตัวแรง
แต่สำหรับตลาดอาคารสำนักงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝ่ายวิจัยและการสื่อสารคอลลิเออร์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า ณ สิ้น ไตรมาสแรกปี 2563 พบว่าอุปทานพื้นที่สำนักงานรวมยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 8.857 ล้านตารางเมตร จากการเปิดตัวของโครงการอาคารสำนักงาน 3 แห่ง ได้แก่ สปริงทาวเวอร์ บนถนนพญาไท มีพื้นที่เช่า 27,255 ตารางเมตร ทิปโก้ ทาวเวอร์ 2 บนถนนพระราม 6 พื้นที่เช่า 14,238 ตารางเมตร และทีอาร์อาร์ทาวเวอร์ บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ พื้นที่เช่า 15,524 ตารางเมตร รวมพื้นที่ทั้ง3โครงการ 57,071 ตารางเมตร
ทั้งยังพบว่าช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมามีอุปสงค์พื้นที่สำนักงานรวมอยู่ที่ประมาณ 45,000 ตารางเมตร โดย โค-เวิร์กกิ้ง สเปซ สถาบันทางการเงิน รวมถึงหน่วยงานของภาครัฐบางส่วนเป็นผู้ที่เข้าใช้พื้นที่ของอาคารสำนักงานมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของปีผ่านมา
กลุ่มผู้เช่าเหล่านี้ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่า 3,000 ตารางเมตร จึงส่งผลให้อาคารสำนักงานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมาบางอาคารมีการใช้พื้นที่ไปแล้วกว่า 80% และคาดการณ์ว่ากลุ่มผู้เช่าเหล่านี้จะยังคงเป็นผู้เช่าหลักของอาคารสำนักงานในอนาคต
สำหรับภาพรวมพื้นที่สำนักงานเกรด เอ ในกรุงเทพมหานคร ในปี 2563 นอกจากที่กล่าวมาแล้วคาดการณ์ช่วงไตรมาสที่ 2- ไตรมาสที่ 4 จะมีพื้นที่สำนักงานก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 329,255 ตารางเมตร และในปี 2564 ถึงปี 2565 จะมีพื้นที่สำนักงานที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในแต่ละปีเพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ 368,032ตารางเมตร และ 401,174ตารางเมตร ตามลำดับ
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสารคอลลิเออร์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯวิเคราะห์ว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวกลับสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าควรพิจารณาและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นี้ ด้วยการปรับลดขนาดพื้นที่เช่าให้เล็กลง หรือการลงนามสัญญาเช่า อาจปรับลดระยะเวลาการเช่าให้สั้นขึ้น จากปกติสมัยก่อนต้องลงนาม 3 ปีขึ้นไป เพื่อที่จะปล่อยพื้นที่เช่าได้เร็วขึ้น
ส่วนการบรรเทาให้กับผู้เช่า ในระยะสั้นผู้ประกอบการควรให้ส่วนลดค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน และค่าบริการอื่นๆ อย่างน้อย 3-6 เดือน โดยแบ่งตามประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ หรือให้สามารถแบ่งชำระค่าเช่า ค่าบริการรวมถึงขยายเวลาชำระเงินกำหนดเดิมออกโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อให้ผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นไปได้และเพื่อให้ผู้เช่ายังคงสามารถเช่าพื้นที่ต่อได้โดยไม่ยกเลิกสัญญาเช่า
สำหรับผู้เช่าหากได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว ควรติดต่อผู้ให้เช่าเพื่อพูดคุยและหาแนวทางเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป หรือหากครบกำหนดต่อสัญญาอาจพิจารณาเป็นการต่อสัญญาระยะสั้นไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ต่อไป
ถึงแม้ตลาดอาคารสำนักงานจะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ เนื่องจากโดยรวมแล้วในปีนี้อุปทานที่เหลืออยู่ยังคงไม่เพียงพอหรือมีอย่างจำกัด เพื่อรองรับความต้องการของบริษัทต่างๆ ที่ต้องการย้ายอาคารสำนักงานใหม่ หรือขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาคารเกรดเอ
แต่หากว่าหลังช่วงไตรมาสที่ 3 ไปแล้ว สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ตลาดอาคารสำนักงานก็อาจจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากการสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยคาดการณ์ว่าแพร่ระบาดดังกล่าวอาจส่งผลกระทบให้มีคนว่างงานมากกว่า 6.5 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าผู้เช่าหลายรายที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องธุรกิจอาจปิดตัวลงจนต้องยกเลิกสัญญาเช่าหรือปรับลดขนาดพื้นที่ลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้สามารถประคับประคองธุรกิจไปได้