หลังจากตัดสินใจปิดตำนาน โรงแรม สวิส โฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ อย่างถาวร ผ่านการขายโรงแรมและอาคาร รวมที่ดิน 15 ไร่ ริมถนนวิทยุ ให้กับบริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จำกัด ของเครือ โรงพยาบาลกรุงเทพ มูลค่ากว่า 1.08 หมื่นล้านบาท ราวช่วง 4 ปีก่อนหน้า (ปี 2559) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อแบรนด์ ปาร์ค นายเลิศ ภายใต้ “นายเลิศกรุ๊ป” ซึ่งถือกำเนิดโดยบุคคลสำคัญ
นายเลิศ เศรษฐบุตร ทั้งในแง่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์คนแรกๆของไทย ไปจนถึงการเปิดกิจการโรงน้ำแข็ง, รถประจำทาง (รถเมล์ขาว) แห่งแรกและบริษัทเดินเรือเมล์อันโด่งดังในอดีต กลับยังคงอยู่คุ้นหูคุ้นตากับสังคมไทยไม่จางหาย กลายเป็นแรงบันดาลใจครั้งใหม่ ที่ยังทำให้ทายาทรุ่นที่ 4 “ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร” ที่วันนี้เปรียบเป็นหญิงแกร่งของตระกูล ตัดสินใจเปิดตำนานสร้างชื่อบทใหม่ เตรียมต่อยอดเสริมพอร์ตโพลิโอของธุรกิจให้งอกเงยอีกครั้ง
โดยหวังคงเกียรติภูมิของนายเลิศกรุ๊ปไว้ ผ่านโปรเจ็กต์ยักษ์ “อมัน นายเลิศ กรุงเทพฯ” ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ ที่เตรียมเปิดให้ยลโฉม (ห้องตัวอย่าง) 10 กันยายน 2563 ซึ่งคาดจะสร้างความฮือฮาให้กับแวดวงอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่น้อย จากจุดเด่นทำเลที่ตั้งและรูปแบบการพัฒนาอย่างมีเอกลักษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ร่วมพูดคุยแนวทางการดำเนินธุรกิจ และเป้าหมายสำคัญในการตอบสนองเจตนารมณ์คุณทวด (นายเลิศ) และคุณยาย (ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ) จากผู้บริหารหญิงวัย 40 ปีคนนี้ ซึ่งเธอระบุว่า “ไม่ได้มองความสำเร็จแค่ในประเทศเท่านั้น”
พอร์ตธุรกิจนายเลิศกรุ๊ป
ปัจจุบัน นายเลิศกรุ๊ป ยังคงดำเนินธุรกิจหลัก 4 ด้าน ครอบคลุม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจร้านอาหาร เช่น ร้านอาหารไทย มา เมซอง (Ma Maison) ธุรกิจจัดเลี้ยง และการบริการ, งานด้านวัฒนธรรมและการกุศล ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ของ บ้านปาร์ค นายเลิศ เรือนไม้สักอายุกว่า 100 ปี ซึ่งขณะนี้ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมด้วย
รวมถึงธุรกิจด้านการศึกษา ในนามโรงเรียนสอนบัตเลอร์แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งตนเองเข้ามาบุกเบิกริเริ่ม หลังจากเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายของการท่องเที่ยวของคนทั่วโลกที่โด่งดัง ซึ่งนอกจากเอกลักษณ์โดดเด่นในแง่อัธยาศัยที่ดีงามแล้ว การบริการอย่างมีคุณภาพจากคนมืออาชีพเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องต่อยอด เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับภาคท่องเที่ยวของไทย
เรียลเอสเตทคือดีเอ็นเอ
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของธุรกิจครอบครัวนายเลิศ ถูกสร้างชื่อยิ่งใหญ่มาจากโรงแรม เปรียบโรงแรม เป็น “บ้านที่อบอุ่นคุ้นเคย” ไม่ต้องการทอดทิ้ง ซึ่งหลังจากตนเองเข้ามาบริหารคลุกคลีร่วม 10 ปี ใช้ประสบการณ์ชีวิตท่องเที่ยวจนมาถึงจุดอิ่มตัว จึงต้องการต่อยอดพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ซึ่งมีเป้าหมายว่า สิ่งนั้นต้องเป็นตำนาน และตอบโจทย์การเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ระยะยาวได้
หลังจากตัดขายที่ดินบางส่วนออกไป เหลือ 20 ไร่ (บ้านปาร์ค นาย เลิศ) จึงมีแนวคิดแบ่งพื้นที่ออกมา 3 ไร่ เพื่อนำมาพัฒนาโปรเจ็กต์สำคัญ “อมัน นายเลิศ กรุงเทพฯ” มูลค่าการลงทุน 6 พันล้านบาท อาคารสูง 36 ชั้น ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งโรงแรม และส่วนที่พักอาศัย (เรสซิเดนท์)โดยผ่านการศึกษาตกผลึกความคิดมาร่วม 3 ปี
เนื่องจากเปรียบเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง จากภาพแบรนด์ “นายเลิศ” ที่ต้องดี มีคุณภาพและเอกลักษณ์ที่บอกกล่าวได้ ทั้งยังจะต้องช่วยเสริมกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ด้วย เปรียบ “กิน อยู่ หลับนอน” ต้องมีครบจึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว
“วันนี้ นายเลิศ ยังถูกมองเป็นชื่อบุคคล (คุณทวด) เราเองต้องการเปลี่ยนนิยามใหม่ ให้เป็นแบรนด์ของผู้สร้างที่จับต้องได้แต่ยังคงคาแรคเตอร์ เนื่องจากจุดริเริ่ม คุณทวด เป็นผู้สร้างโรงแรมต่างชาติแห่งแรก Hotel de la Paix เจริญกรุง เป็นที่แฮงเอาส์ของกลุ่มราชวงศ์ คนชั้นสูง จับอะไรก็พลิกวิกฤติ เป็นโอกาสได้เสมอ เป็นวิสัยทัศน์ที่ส่งต่อให้ลูกหลาน
ที่ตั้ง-พาร์ตเนอร์ ใบเบิกทาง
นางสาว ณพาภรณ์ กล่าวต่อว่า แม้แบรนด์นายเลิศสร้างจุดขายได้ไม่ยาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำธุรกิจโรงแรมและโครงการที่พักอาศัย โดยเฉพาะในกลุ่มลักชัวรี ให้ตอบโจทย์ความต้องการแบบปังไม่ใช่เรื่องง่าย ตลาดยังท้าทาย มีโรงแรมและโครงการคอนโดฯหรู เกิดขึ้นใจกลางเมืองมากมาย ทุกโปรเจ็กต์สวยงาม แตกต่างไม่แพ้กัน แต่โปรเจ็กต์นี้ ด้วยจุดเด่นเรื่องทำเลที่ตั้ง ซึ่งเป็นที่ดินส่วนตัวผืนสุดท้ายใจกลางเมือง ในย่านที่มีการปิดดีลการซื้อขายที่ดินที่แพงที่สุด คาดเดาไม่ได้ถึงราคาที่จะสูงลิ่วในอนาคต
หากขึ้นคอนโดฯฟรีโฮลด์ราคาขายอาจแตะ 1 ล้านบาทต่อตร.ม. ก็เป็นไป ทั้งอยู่ในพื้นที่วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ จึงต้องการความพีถีพิถันและสไตล์อย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งเราเดินคนเดียวไม่ได้
นับเป็นโอกาส หลังเชนจ์โรงแรมดังอย่าง “อมัน” ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกรีสอร์ตระดับอัลตราลักชัวรีและกลุ่มนิช หรือตลาดขนาดเล็ก ที่เลือกเฟ้นเกรดลูกค้าทั่วโลก มาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ด้วย ซึ่งการออกแบบในส่วนของ “อมัน นายเลิศ เรสซิเดนเซส กรุงเทพฯ” ชั้นที่ 11-28 ประมาณ 50 ยูนิต ด้วยราคาขายเฉลี่ย 4.5 แสนบาทต่อตร.ม เริ่ม 45 ล้านบาท จากขนาดเริ่มต้น 104 ตร.ม. กำหนดแล้วเสร็จช่วงปี 2566 นั้น จะโดดเด่นไม่แพ้ใคร
อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปแบบการขายลิสโฮลด์ สัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี (เพิ่มเติม 30 ปี ) เปิดทางให้ลูกค้าต่างชาติถือครองได้ 100% แต่ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลดัง ระบุว่า ยอดขาย หรือ เชื้อชาติของผู้อาศัย ไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือต่างชาติรู้จักความพิถีพิถันอย่างไทย ผ่านโปรดักต์และการบริการของนายเลิศมากขึ้น
“เรามีจุดแข็งเรื่องแบรนด์ และโลเกชัน แต่เป้าหมายไม่ได้คาดหวังยอดเข้าพัก หรือ ยอดขาย แต่สิ่งที่จะสะท้อนถึงความสำเร็จวันนั้นของเรา คือ ความประทับใจที่ลูกค้าส่งกลับ พูดต่อ และมาใช้บริการซ้ำ มากกว่าให้ความสำคัญกับวอลลุ่ม และโปรเจ็กต์นี้อาจเปิดทางให้เราเป็นที่รู้จักระดับโกลบอลแบรนด์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดธุรกิจหลัก 4 ด้าน”
แต่ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า อมัน ซึ่งเป็นเชนจ์โรงแรมดัง จะเป็นส่วนผลักดันให้มียอดขายในส่วนเรสซิเดนท์จากกลุ่มคนต่างชาติระดับ High Net Worth และเมื่อรวมกับฐานแฟนคลับเหนียวแน่นของนายเลิศที่ชื่นชอบ และหลงใหลความเป็นนายเลิศ ทั้งในกลุ่มคนชั้นสูง คนแวดวงสังคม ครอบครัวตระกูลดัง อาจผลักดันให้ยอดขาย ณ สิ้นปีเราเกินกว่า 50%
สไตล์การทำงาน
ทายาทดัง ยังกล่าวปิดท้ายถึงรูปแบบการทำงาน ว่า นอกจากชอบการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ มักเรียนรู้และศึกษาด้วยตนเอง ก่อนลงมือทำแล้ว การลงทุนที่พิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ตนเองให้ความสำคัญสูงสุด ไม่ต้องการทำอะไรเกินตัว จะเห็นได้ว่า แม้เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ แต่ยูนิตน้อยก็เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมคุณภาพ ขณะเดียวกันชอบอยู่กับความจริง คิดและทบทวนเสมอ ถึงจุดแข็งและจุดด้อยของตนเองสม่ำเสมอ โดยมีคุณยายเป็นต้นแบบในทุกด้านของชีวิต
เพราะเคยถูกสอน การเป็น Somebody ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศนี้ กลายเป็นคำสอนที่อยู่ในใจ และเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาเรื่อยมา ขณะการสืบต่อธุรกิจของครอบครัว มองว่า “มีความสามารถอาจไม่พอ การรักและศรัทธา รวมถึงสนุกที่อยากจะทำ เลือกจะแก้วิกฤติอย่างไรนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด”
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,608 วันที่ 10 - 12 กันยายน พ.ศ. 2563