thansettakij
ไฟเขียวร่วมลงนามญี่ปุ่น พัฒนาพื้นที่บางซื่อ เป็น “เมืองอัจฉริยะ”

ไฟเขียวร่วมลงนามญี่ปุ่น พัฒนาพื้นที่บางซื่อ เป็น “เมืองอัจฉริยะ”

23 พ.ย. 2563 | 09:23 น.

ครม.เห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบางซื่อ มอบ "ปลัดคมนาคม" ร่วมลงนาม ญี่ปุ่น พัฒนาพื้นที่บางซื่อ ปั้นเป็น “เมืองอัจฉริยะ”

23 พฤศจิกายน 2563 นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบางซื่อระหว่าง กระทรวงคมนาคม ของไทย และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่น เพื่อผลักดันแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งพื้นที่บริเวณบางซื่ออยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคม และได้รับการวางแผนพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางเมืองใหม่ของกรุงเทพมหานครในอนาคตอันใกล้นี้ รวมถึงยังเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะภายใต้กรอบ ASEAN Smart City Network (ASCN) และภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วย

 

ขณะเดียวกันครม.ยังได้อนุมัติให้ปลัดกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.อัดงบกว่า 112 ล้านบาท เดินหน้า 3 โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจสู้ภัยโควิด-19

ครม.รับทราบรายงาน กมธ.CPTPP มอบ "ดอน" ถกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

ครม.ไฟเขียว ตั้ง สถาบันวิจัยฯระบบราง เป็น องค์การมหาชน 

 

สำหรับร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบางซื่อฯ มีสาระสำคัญดังนี้คือ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น โดยมีกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทยและองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่น ร่วมกันกำหนดรูปแบบความร่วมมือ และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่นจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้วย

ส่วนการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบนั้น ทางกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยจะจัดส่งข้อมูลทรัพย์สินและข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเมืองให้แก่กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่น  ขณะที่กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่นก็จะส่งข้อมูลนโยบายและการพัฒนาเมือง กฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง แผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนและวิธีการดำเนินโครงการให้กับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้น แต่ละฝ่ายจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง โดยที่บันทึกข้อตกลงฯมีอายุ 2 ปี และต่ออายุอัตโนมัติได้อีก 2 ปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ทุกฝ่ายลงนาม ทั้งนี้ร่างบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ และให้ดำเนินการตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับและนโยบายของประเทศตนเอง ส่วนข้อมูลและข่าวสารที่แลกเปลี่ยนกันภายใต้ร่างบันทึกข้อตกลงจะเป็นข้อมูลความลับ

 

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ตามแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะพื้นที่โดยรอบบริเวณบางซื่อ(Bang Sue Smart City)  จะนำเสนอรูปแบบความเป็นอัจฉริยะใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ เป็นรูปแบบเมืองที่ผู้คนสามารถเดินในบริเวณพื้นที่ได้อย่างสบายและปลอดภัย สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆได้ง่าย  มีเครือข่ายทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับโซนต่างๆ 2.การบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ จะมีการใช้ระบบ Regional Cooling Network แหล่งกำเนิดความเย็นประสิทธิภาพสูง  การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และนำระบบสื่อสารสารสนเทศและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการบริหารจัดการพลังงาน และ3.การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ โดยจะพัฒนาพื้นที่สีเขียวบริเวณรอบสวนจตุจักร มีการจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลโดยเน้นการรีไซเคิลและลดการทิ้งขยะที่เป็นของแข็ง ให้บริการขนส่งคมนาคมด้วยรถEV การส่งเสริมการแชร์จักรยาน และการจัดโซนให้ความสำคัญกับผู้เดินเท้าเป็นอันดับแรก