บางนา-ตราด ฮอต ออนไลน์ดันความต้องการ “คลังสินค้า” พุ่ง      

05 ธ.ค. 2563 | 06:05 น.

บางนา-ตราด ฮอต ออนไลน์ดันความต้องการ “คลังสินค้า” พุ่ง      มีความต้องการต่อเนื่อง บิ๊กทุนเห็นช่องทางปักหมุดรับอีอีซี

 

นายอาดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซีบีอาร์อี  ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย ว่า ประเทศไทยอาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และความเป็นไปได้ในช่วงหลังโควิด-19  เนื่องจาก พบแนวโน้ว ว่า บริษัทที่ต้องพึ่งพาการผลิตจากจีนเป็นหลัก จะลดการผลิตในจีนและหันมาตั้งฐานการผลิตรองที่ประเทศอื่นแทน ซึ่งคาดว่า หากการเดินทางทางอากาศกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว บริษัทผู้ผลิตจากจีนจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทย เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เนื่องจาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจุดแข็ง จากการพัฒนาระบบซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมหลักต่างๆ เช่น ยานยนต์ ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถเริ่มการผลิตในไทยและจัดหาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้สะดวก รวดเร็ว

 

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซีบีอาร์อีได้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้การเติบโตนี้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากศูนย์การค้าหลายแห่งต้องปิดทำการเป็นเวลานาน หลายคนได้มีโอกาสทำงานจากที่บ้านเป็นครั้งแรกแทนการทำงานในสำนักงาน ซึ่งส่งผลให้ยอดขายสินค้าออนไลน์พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าปลายทาง (Last Mile Delivery) ได้ให้ความเห็นว่า “เราไม่เคยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนทั้งในประวัติศาสตร์ของบริษัทและของตลาดโลจิสติกส์ โดยยอดส่งสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% หรือบางช่วงเวลาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในหนึ่งวัน”

               

บางนา-ตราด ฮอต ออนไลน์ดันความต้องการ “คลังสินค้า” พุ่ง      

 

“ยอดส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นนี้ จะส่งผลต่อตลาดคลังสินค้าให้เช่า เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งสินค้าหลายรายต้องใช้พื้นที่มากขึ้นในพื้นที่ที่สำคัญสำหรับการส่งสินค้า ซึ่งทำเลสำคัญในย่านบางนา-ตราดก็เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินที่สามารถนำมาพัฒนาพื้นที่คลังสินค้าได้”

                นายอาดัม กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินในกรุงเทพฯ ไปยังอู่ตะเภา โครงการสนามบินภาคตะวันออกที่สนามบินอู่ตะเภา และการขยายท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด

 

 

โครงข่ายถนนมอเตอร์เวย์ในเขตอีอีซีก็ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และทำให้การเดินทางจากฐานการผลิตไปยังแหลมฉบังและที่อื่นๆ มีประสิทธิภาพ รัฐบาลยังส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นอย่างมาก ซึ่งรู้จักกันในชื่ออุตสาหกรรม “S Curve” ซึ่งนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและด้านอื่นๆ อีกมากมาย และเป็นพื้นที่สำคัญของธุรกิจคลังสินค้า โดยคำถามสำคัญที่ไทยต้องพิจารณาคือเราจะไปในทิศทางใดต่อจากนี้ เพื่อรองรับโอกาสที่จะเกิดขึ้น

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,633 วันที่ 6 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563