กรุงเทพมหานคร(กทม.)ประกาศอัตราจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทุกเส้นทางสูงสุด 104บาท นับตั้งแต่วันที่16กุมภาพันธ์ 2564เป็นต้นไป ท่ามกลางเสียงคัดค้าน รอบด้าน โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ ว่า ควรทบทวน และหาทางออกรวมกัน ทั้งนี้ นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามประกาศ ดังกล่าว เนื่องจาก ขร. พิจารณาแล้วเห็นว่า อาจส่งผล
กระทบต่อสาธารณชนจึงขอให้ กทม.พิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุมและขอให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 ที่กำหนดให้กระทรวงคมนาคม และกทม. บูรณาการร่วมกันในการกำหนดอัตราแรกเข้า อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน ทั้งนี้ขร.จะเสนอกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่ ครม. มอบหมาย หารือร่วมกับกทม.ต่อไป เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ
ขณะแหล่งข่าวกทม.ยืนยันที่ผ่านมากทม.ได้ประกาศค่าโดยสารแจ้งต่อบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี ในฐานะเอกชนผู้รับจ้างเดินรถ ไปก่อนหน้านี้ ปัจจุบันยังคงยึดตามประกาศเดิม
อีกทั้งอยู่ระหว่างแก้ไขสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ซึ่งจะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาทเป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาท ของกทม. ประกอบด้วย ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดจากการรับโอนส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงสำโรง-เคหะฯ ทั้งนี้ส่วนเงินต้นค่างงานโยธา ประมาณ 55,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยในอนาคต ประมาณ 10,000 ล้านบาท ค่าลงทุนงานระบบใน E&M ในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงสำโรง-เคหะฯประมาณ 20,000 ล้านบาท ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่าย 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้เอกชนต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้กทม.อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา
“กทม.ยืนยันว่าภายใต้อำนาจ กทม.พยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุด เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยกทม.จะอธิบายเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อสามารถปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายลงเหลือ 65 บาทโดยเร็วที่สุด”
สอดคล้องกับนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า กรณีที่กทม.ประกาศอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ 104 บาท นั้น ขณะนี้กทม.ยังไม่ได้นัดเจรจากับบีทีเอสเพิ่มเติมถึงเรื่องดังกล่าว ถึงแม้ว่าทางกระทรวงคมนาคและกรมการขนส่งทางรางจะออกมาคัดค้านก็ตาม
“ปัจจุบันเรายืนยันจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามประกาศของกรุงเทพ มหานคร กรุงเทพมหานครให้เราดำเนินการอย่างไร เราก็ปฏิบัติไปตามที่กรุงเทพมหานครแจ้งมาเท่านั้น”
สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวชั่วคราว 104 บาท แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย 1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงเส้นทางสัมปทานในปัจจุบัน (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-วงเวียนใหญ่) เป็นไปตามตารางที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เป็นผู้กำหนด ซึ่งยังคงจัดเก็บในอัตราเดิม คือ 16-44 บาท 2. ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากสถานีห้าแยกลาดพร้าว ถึงสถานีคูคต ค่าโดยสาร 15 - 45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี) 3. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจากสถานีบางจาก ถึงเคหะสมุทรปราการ ค่าโดยสาร 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี) 4. ส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงที่ 2 จากสถานีโพธิ์นิมิตร ถึงสถานีบางหว้า ค่าโดยสาร 15-24 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,646 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เคาะแล้ว! ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดสาย 104 บาท เริ่มเก็บ 16 ก.พ.
คมนาคม หัก กทม.ชะลอขึ้นค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว104บาท
กรมราง ตื่น เบรกขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว
ผู้ว่ากทม.ออกประกาศ ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสาย สีเขียวทุกเส้นทาง เริ่มใช้ 16 ก.พ.64
"รถไฟฟ้าสายสีเขียว" แพง 104 บาท "ศรีสุวรรณ" จี้คมนาคมรับผิดชอบ