สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 รุนแรงทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับอสังหาริมทรัพย์แต่ข้อดีที่ผู้ประกอบการเริ่มมีภูมิคุ้มกันจากการระบาดรอบแรกและรอบที่สองจึงปรับตัวชะลอโครงการพลิกเกมลงทุนโครงการแนวราบมากขึ้น เพราะมองว่าเจ็บตัวน้อยกว่าพัฒนาคอนโดมิเนียม ทั้งยังลดขนาดโครงการปรับลดจำนวนหน่วยได้ ตามที่ลูกค้าต้องการ อีกทั้ง ต้นทุนต่ำ แรงงานไม่มาก ซึ่งตลาดกลุ่มนี้ยังไปได้โดยเฉพาะกลุ่มระดับบน โดยภาพรวม มองว่าค่ายใหญ่ยังไปได้สะท้อนจากผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2564 ล้วนมีกำไรจากการปรับตัวมาลงสนามแนวราบ แต่ไม่ได้หมายความว่า ความบอมซ้ำจะไม่หลงเหลืออยู่เพราะสต๊อกคอนโดมิเนียม ยังมีเหลือจำนวนมาก ในเขตกรุงเทพมหานคร น่าจะเหลือไม่เกิน 3 หมื่นหน่วย
อย่างไรก็ตาม สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงเดินหน้าต่อรองกับรัฐบาลถึงมาตรการบรรเทา ในธุรกิจนี้ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมฯโดยระบุว่าที่ผ่านมาสมาคมอสังหาฯร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องได้เสนอมาตราการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาโดยตลอด ที่ล่าสุด รัฐบาลได้ต่ออายุค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดจำนอง 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จากเดิมที่หมดอายุลงเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา แม้อาจไม่ได้ตามเป้าหมายที่เอกชนเสนอเช่น ลดค่าโอนทุกระดับราคา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัย 10 ล้านบาทขึ้นไป เพราะหลายฝ่ายจับตามองว่าเอื้อให้กับคนรวยประกอบกับอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้รัฐงบประมาณมีจำกัดหากรายได้ลดลง แต่อีกทางเลือกที่ต้องการขอให้รัฐสนับสนุนในเวลานี้คือหากคนซื้อบ้านในราคาเกิน 3 ล้านบาทรับลดหย่อนค่าโอนฯที่ 3 ล้านบาท ส่วนต่างที่เหลือให้เสียเต็มอัตรา มองว่าเป็นทางออกที่ดีในทางกลับกันรัฐมีรายได้มากขึ้น เพราะได้กลุ่มที่มีกำลังซื้อเพราะได้แรงจูงใจทั้งที่อยู่อาศัยถูกและได้รับลดหย่อน รวมถึงการปลดล็อกมาตรการคุมเข้มการกู้สินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทยมาตรการ LTV หรือ อัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลักประกัน
สำหรับมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุนแต่ผู้ประกอบการ ไม่ได้ประโยชน์กลับมาเท่าทีควรนั่นคือ อีลิทคาร์ด ให้ต่างชาติซื้อเพื่อเข้ามาจับจ่ายในไทยและสามารถซื้อคอนโดมิเนียมไทยได้ 10 ล้านบ้านขึ้นไป เท่าที่ทราบขายค่อนข้างยากและดีเวล็อปเปอร์ไทยต้องลงทุนซื้อบัตรนี้ในราคา 5 แสนบาท แจกแถมลูกค้าต่างชาติเพื่อจูงใจ
เช่นเดียวกับมาตรการเปิดประเทศ หลังจากพลเมืองในพื้นที่ 70% และต่างชาติที่จะบินเข้าไทย อย่างจังหวัดภูเก็ต ฉีดวัคซีนครบโดส มองว่า ไม่ได้เข้ามามากอย่างที่เข้าใจและอาจเป็นความเสี่ยงมากกว่า โดยเฉพาะจีนที่ไม่กล้าเดินทางมาประเทศไทยในขณะนี้เพราะสถานการณ์การระบาดยังควบคุมไม่ได้ ปัจจุบันเกาะภูเก็ตไม่ต่างจากเกาะร้างผู้ประกอบการในพื้นที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่เป็นที่สังเกตว่า อสังหาฯระดับบนยังพอไปได้
โดยสรุปว่า สถานการณ์ โควิดรอบ 3 ค่ายใหญ่แม้ได้รับผลกระทบแต่สามารถฝ่าวิกฤติไปได้ โดยใช้กลยุทธ์เดิมระบายของในมือออกไป และหาช่องทางใหม่ที่สร้างรายได้ โดยมีช่องทางระดมทุน สถาบันยังปล่อยสินเชื่อโครงการ แต่รายเล็กไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ที่โชคดีทุกค่ายพร้อมใจกันชะลอเปิดขายโครงการ ทำให้กระทบลดลงมาจนถึงการระบาดในรอบปัจจุบัน เช่นเดียวกับ ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ปัญหาใหญ่ คือ การถูกปฏิเสธสินเชื่อที่กระทบทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการ
“การระบาดโควิดตั้งแต่รอบ 1-3 มองว่าแบงก์ยังเข้มเหมือนเดิมและยิ่งเข้มเพิ่มขึ้นเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายทำให้อสังหาฯตกอยู่ในวังวนแบบนี้แต่ไม่ถึงขั้นดิ่งนรก”
ปีที่ 41 หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564