คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งรัฐขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตอีอีซี อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินเชื่อม สนามบินอู่ตะเภา และมหานครการบินภาคตะวันออก ให้เป็นจุดหมายปลายทางนักลงทุนนักท่องเที่ยวนักเดินทางเข้าพื้นที่
ทั้งนี้ในส่วนของ การพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า2.9แสนล้านบาท นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์จำกัด(มหาชน) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า
ต้นปีหน้า (ปี 2565) หลังภาครัฐ ส่งมอบพื้นที่ ให้กับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA แล้ว บริษัทจะเริ่มลงมือก่อสร้างเมืองการบินและสนามบินอู่ตะเภา บนพื้นที่รวม กว่า6,000 ไร่ ปัจจุบัน ได้สำรวจดิน ทำรั้วกั้นแนวเขต พื้นที่โดยรอบแล้วเสร็จ
สำหรับสถานการณ์การระบาดโควิดอาจมีเป็นปัญหาอุปสรรค แต่เชื่อว่าปีหน้าคาดว่าจะเบาบาง โดยบริษัทมีเป้าหมายพัฒนาเมืองการบิน ให้เป็น สมาร์ทซิตี้ รองรับนักท่องเที่ยวนักลงทุน ที่จะเข้ามาในปี2568 หลังก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง
โดยความน่าสนใจของโครงการนี้อยู่ที่ตัวอาคารผู้โดยสาร ที่ออกแบบโดย สถาปนิกชั้นนำระดับโลก อย่าง SOM นอกจากนี้ในส่วนของเมืองการบินอู่ตะเภา ได้บริษัทด้านการออกแบบชั้นนำของประเทศไทย เป็นผู้ออกแบบ
การพัฒนาจะ เป็นรูปแบบมิกซ์ยูส จุดศูนย์รวมทั้งที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล ศูนย์การค้า ศูนย์การประชุมสัมนา ออฟฟิศ รวมทั้งสถานีไฮสปีด เชื่อมต่อการเดินทางจากสนามบินอู่ตะเภา สู่สนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง
เรียกได้ว่า อู่ตะเภา จะกลายเป็นเมืองใหม่ที่ทันสมัยที่สุด ในประวัติศาสตร์ของการสร้างเมืองของประเทศไทยและเมืองระดับโลกเลยก็ว่าได้
นายสุรพงษ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการUTA มีมติประกาศแต่งตั้ง นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนแรกของบริษัทฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
เน้นภารกิจสำคัญในการบริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โลจิสติกส์และการบิน รวมถึงเป็นศูนย์กลางของมหานครการบินภาคตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต่อเนื่องไปทางภาคตะวันออกได้อย่างสะดวกสบายทันสมัย ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
นายเปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ระยอง ระบุว่าราคาที่ดินทำเลบ้านฉาง ใกล้โครงการเมืองการบิน ขยับสูงหลายรอบนับตั้งแต่ ประกาศโครงการ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ราคาที่ดินอาจทรงตัว เช่นติดถนนสายหลักสุขุมวิท เฉลี่ย10-20ล้านบาทต่อไร่ เทียบ5-6ปีก่อน 3-5 ล้านบาทต่อไร่ ในซอย 3-4ล้านบาทต่อไร่ ก่อนหน้านี้ราคา ไม่เกิน1ล้านบาทต่อไร่
เมื่อโครงการขนาดใหญ่ขยับก่อสร้างราคาที่ดินน่าจะปรับขึ้นได้อีก ประกอบกับปัจจุบันเริ่มมีบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ส่วนกลางเข้าพื้นที่ เพราะไตรมาส4 ปีนี้ เริ่มเห็นสัญญาณบวกของอสังหาฯฟื้นตัว โควิดคลี่คลาย การฉีดวัคซีนกระจาย และปี2565 รัฐบาลมีแผนซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้น โครงการขนาดใหญ่ในอีอีซีขยับ ทำให้ เกิดความคึกคักขึ้นได้