สถานการณ์ตลาดบ้านหรูพรีเมียม ระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป จากกลุ่มผู้ซื้อ ที่มีความมั่งคั่งทางการเงิน ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจหดตัว จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นดีมานด์สำคัญ และแหล่งรายได้หลัก ของผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยไทยระดับท็อป ในปี 2564 หลังกระแสความต้องการ ทั้งเพื่ออยู่อาศัย และ ลงทุน มีมากขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่คุ้มค่า แตกต่าง และบางทำเลมีจำนวนจำกัด (Rare Item) สร้างผลตอบแทนระยะยาวได้ดี ส่งผลครึ่งปีแรก ผู้พัฒนาโครงการในตลาดนี้ ได้รับอานิสงค์ในแง่รายได้และยอดขายจำนวนมาก
เบอร์ใหญ่ส้มหล่นเงินเศรษฐี
โดยเบอร์ใหญ่ แบรนด์บ้านหรู อย่าง 'บางกอกบูเลอวาร์ด' บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศ ทำนิวไฮ ด้วยยอดขาย 11,338 ล้านบาท ด้าน บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรพุ่งเป็นอันดับ 1 ของตลาด ที่ 3,613 ล้านบาท ขณะ บมจ.แสนสิริ ทยอยปิดการขายโครงการบ้านหรู แบรนด์ 'เศรษฐสิริ' และ 'บุราสิริ' ในทำเลต่างๆอย่างต่อเนื่อง
'ฐานเศรษฐกิจ' ตรวจสอบอีกโครงการเฟล็กชิฟบ้านแพง บนถนนประเสริฐมนูกิจ 'สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส ' มูลค่า 4,970 ล้านบาท ของบมจ. สิงห์ เอสเตท ซึ่งมีราคาขายเริ่ม 250 ล้านบาท พบแม้ช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.- มิ.ย.) กรุงเทพฯ มีมาตรการล็อกดาวน์เข้ม แต่สามารถปิดการขายเพิ่มได้อีก 2 หลัง ยอดขายเกิน 67 % ซึ่ง สิงห์ เอสเตท เผยว่า ผลสำเร็จดังกล่าว ทำให้มีความมั่นใจตลาด และวางแผนซื้อที่ดินเพิ่มอีก 3 แปลง เพื่อพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวในระดับราคา10 –100 ล้านบาท หลังวิเคราะห์ ว่าตลาดนี้ยังคงมีโอกาส และเป็นที่สนใจของนักลงทุนมากขึ้น
คอลลิเออร์สฯ เผยดูดซับดี
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เผย ว่า โครงการบ้านจัดสรรระดับบน ราคาเกิน 10 ล้านบาท ที่เปิดตัวกันอย่างดุเดือด ช่วงสถานการณ์โควิด ตั้งแต่ ปี 2563 นั้น ยังคงมีความเคลื่อนไหวดุเดือดในปีนี้ พบหลายโครงการสามารถทำยอดขายได้กว่า 70% ในช่วงเวลาสั้นๆ 1-2 เดือนเท่านั้น ขณะบางโครงการประกาศปิดการขายได้ 100% ทั้งโครงการ ในช่วงที่ผ่านมา เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ มาจากความร้อนแรงของกำลังซื้อ กลุ่มลูกค้าที่ค่อยไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก สะท้อนจากอัตราดูดซับ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูง กว่าตลาดรวมประมาณ 0.5% ที่ 4.8% บวกกับราคาที่ดินในกทม.ที่ปรับเพิ่มขึ้น มีผลต่อการปรับราคาของผู้พัฒนาโครงการอยู่เช่นกัน
พบนัยยะความเปลี่ยนแปลงในด้านทำเลที่ตั้งมากขึ้น เช่น บ้านราคามากกว่า 25 ล้านบาท จากเดิมกระจุกตัวในโซนสุขุมวิทตอนกลาง ตั้งแต่ซอย 31 ถึง เอกมัย หรือ โซนอารีย์ แต่ปัจจุบัน ขยับมาสู่พื้นที่รอบใจกลางเมือง อย่าง พระราม 9 ,พรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ,เพชรเกษม ,เย็นอากาศ , วิภาวดี-รังสิต ,ปิ่นเกล้า ,กรุงเทพกรีฑา , รัชดา - รามอินทรา และ ปลาย เกษตร-นวมินทร์ เป็นต้น มากขึ้น
เปิดใหม่สูงสุด 2,500 ยูนิต
นายภัทรชัย ยังคาดการณ์ว่า ความร้อนแรงของตลาดบ้านระดับบน จะส่งผลให้ทั้งปี 2564 มีซัพพลายใหม่เปิดตัวสูงสุดถึง 2,500 ยูนิต มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่อยู่ราว 1,531 ยูนิต โดยครึ่งปีแรก พบมีเปิดใหม่ทั้งสิ้น 12 โครงการ จำนวน 340 ยูนิต มูลค่า 10,200 ล้านบาท สัดส่วน 64 % มาจากผู้พัฒนารายใหญ่ รวมโครงการสะสมอยู่ระหว่างการขาย 155 โครงการ รวมทั้งหมด 9,850 ยูนิต ขณะครึ่งปีหลัง คาดจะมีการเปิดใหม่อีกราว 1,500 ยูนิต จากแผนพัฒนาของรายใหญ่ เช่น บมจ.เอสซี แอสเสท ,บมจ.แสนสิริ ,เฟรเซอร์ส ฯ , บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ บมจ.เอพี เพื่อตอบรับดีมานด์ความต้องการที่เกิดขึ้นสวนกระแสตลาดนั่นเอง
"ลูกค้าส่วนใหญ่ ที่มองหาบ้านระดับนี้ มักเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ นอกจากทำเลที่เป็นที่ดึงดูดใจ มีไลฟ์สไตล์ตอบรับ และพื้นที่ใช้สอยมากพอแล้ว ความแตกต่างและโดดเด่นของบ้าน เป็นสิ่งหนึ่งที่มองหา เพราะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์เจ้าของ และยังมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอีกด้วย "
แลนดี้โฮม โกยยอดขายบ้านแพง
สอดคล้อง ทิศทางตลาดบ้านสั่งสร้าง กลุ่มลูกค้าบ้านไฮเอนด์ 15 ล้านบาทขึ้นไป ยังคงมีความเคลื่อนไหว โดยเบอร์ใหญ่บริษัทรับสร้างบ้าน บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด เผย แม้ปัจจัยล็อกดาวน์ มีผลให้ภาคธุรกิจรวมชะลอตัว แต่การเติบโตของบริษัทสวนกระแส โดย 8 เดือนแรกของปี 2564 สามารถปิดการขายได้ถึง 1.6 พันล้านบาท โดยเฉพาะมาจากสัดส่วนบ้านหรูขนาดใหญ่ สะท้อนปัจจัยโควิด ไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีความพร้อม
นางสาวพรรัตน์ มณีรัตนะพร ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ของแลนดี้ โฮม ยังให้มุมมองว่า ช่วงโควิด เกิดตลาดนิชมาร์เก็ต (ความต้องการเฉพาะ) มากขึ้น เหตุ 1.อยากได้บ้านหรูในราคาคุ้มค่า มีพื้นที่ใช้สอย รองรับการ Work from home 2. มีการเร่งตัดสินใจ หลังประเมินว่าในอนาคตราคาบ้านจะแพงขึ้น จากวัสดุก่อสร้าง - ค่าแรงสูง และ 3. ค่าเงินบาทลดลง จึงหันมาลงทุนในอสังหาฯและที่ดินแทน