ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 บริษัทพัฒนาที่ดินหลายค่ายต้องพับแผนชะลอโครงการออกไป แต่สำหรับบิ๊กทุนสายป่านยาวแถวหน้าของเมืองไทยแล้ว ยังคงชิงไหวชิงพริบขยายอาณาจักร สร้างแลนด์มาร์คสำคัญดึงคนทั่วโลกเข้าพื้นที่หลังการระบาดไวรัสคลี่คลาย
โดยพิจารณาจากบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN คว้าที่ดินสยามสแควร์ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU มีเป้าหมายปั้นย่านนี้ให้กลายเป็นเมืองช็อปปิ้งทันสมัย รองรับกลุ่มกำลังซื้อสูงในอีก 2 ปีข้างหน้าและเชื่อว่าที่ดินทำเลทองย่านศูนย์ กลางเศรษฐกิจยังเป็นที่หมายตาของทุนยักษ์รอจังหวะระเบิดศึกสร้างนิวทาวน์อินทาวน์กันอย่างต่อเนื่อง
3 ล้านตร.ม.พลิกโฉมเมือง
“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจโครงการระดับชุปเปอร์ไฮเอ็นต์ ขุมทรัพย์กลางเมือง ทั้งที่ดินเช่าระยะยาว หรือลีสโฮลด์ (Leasehold)และที่ดินซื้อ-ขายเป็นกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ หรือฟรีโฮลด์ (free hold) มูลค่ามหาศาลนับล้านล้านบาท ของบริษัทพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เมืองใหม่ทันสมัยกลางใจเมืองที่จะทยอยเปิดพื้นที่ออกมาไม่ต่ำกว่า3ล้านตร.ม. เฉพาะอาณาจักรเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีมากถึง 2.8 ล้านตร.ม.
ไล่ตั้งแต่ หัวมุมถนนพระราม4 ตัด พญาไทที่ดินจุฬา เปิดมิกซ์ยูสสามย่านมิตรทาวน์ 2.2 แสนตร.ม. ที่ได้เรียกเสียงฮือฮาไปแล้ว เช่นเดียวกับทำเลหัวมุมพระราม 4 ตัดถนนวิทยุบนที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 104 ไร่ โครงการวันแบงค็อก พื้นที่ 1.82 ล้านตร.ม. น่าจับตายิ่งเพราะมีลูกค้าต่างชาติในมือ เรียบร้อยแล้ว จากทีเด็ดสร้าง จุดขาย “Signature Tower”
ตึกสูงที่สุด 1 ใน 10 ประเทศอาเซียนหนึ่งในจุดหมายปลายทางชมวิวแบบพาโนรามาของกทม.โดยจะเปิดเฟสแรก ในปี 2566 และทั้งโครงการปี 2569 ขณะศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า 2.8 แสนตร.ม.จะเปิดให้บริการปลายปีหน้า
เชื่อมต่อสวนขนาดใหญ่เบญจกิติ และรถไฟฟ้าดึงคนเข้าพื้นที่ หลังจากก่อนหน้านี้ เจ้าสัวเจริญ ได้เปิดใช้พื้นที่โครงการเดอะปาร์คเฟสแรกไป เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทั้งอาคารสำนักงานพรีเมียม-รีเทล ยังไม่รวมเวิ้งนาครเขษม ที่จะปลุกย่านไชน่าทาวน์เยาวราช ให้คึกคักยิ่งขึ้น
ทุบสถานทูตอังกฤษขึ้นตึกสูง
ขณะกลุ่มเซ็นทรัลขยับต่อเนื่องพลิกที่ดินสถานทูตอังกฤษ 23 ไร่ หลังห้างหรูเอ็มบาสซี แยกเพลินจิต-วิทยุ ที่ซื้อมาในราคา 1.8 หมื่นล้านบาทเมื่อปี 2561 ขึ้นมิกซ์ยูส อาคารสำนักงานสูง 51 ชั้นและศูนย์ การค้ากว่า 1.4 แสนตร.ม.สร้างอาณาจักรใหญ่บนถนนเพลินจิต วิทยุ ชิดลม โดยมีรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียววิ่งผ่าเมือง เชื่อมเข้ากับที่ดิน จุฬาพื้นที่โรงหนังสกาลา สยามสแควร์ เนื้อที่ 7 ไร่เศษที่คว้าประมูล เตรียมเข้าพื้นที่ปีหน้า คาดว่าอีก 2 ปีจะได้ยลโฉมสร้างความสั่นสะเทือนให้กับธุรกิจค้าปลีกในระแวกเดียวกันไม่น้อย
บีทีเอสกรุ๊ปเปิดบริการ ปีหน้า
อีกกลุ่มทุนที่น่าจับตาสำหรับ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสกรุ๊ป ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว ล่าสุดได้ขยายการลงทุนในธุรกิจการเงินครบวงจร แม้จะลดบทบาทธุรกิจอสังหาฯ แต่บริษัทยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน)หรือU บริษัทในเครือ เตรียมเปิดให้บริการโครงการมิกซ์ยูส ขนาดใหญ่เดอะ ยูนิคอร์น พญาไททำเลติดสถานีบีทีเอส พญาไท-แอร์พอร์ตลิงค์ บนที่ดินกว่า6ไร่มูลค่า9.5พันล้านบาท ภายในปีหน้าซึ่งประกอบด้วยโรงแรม ศูนย์การค้า 1.2แสนตารางเมตร มองว่าจะสร้างความร้อนแรงบนทำเลดังกล่าวอย่างมาก
จุดชนวนพัฒนาเมืองไปรอบนอก
แหล่งข่าวจากกทม.สะท้อนว่า ทำเลกลางใจเมือง แม้จะซบเซาจากโควิดแต่เชื่อว่า ที่ดินเหล่านี้มีจุดแข็งที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่ปล่อยมือแน่นอน เพราะสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างคุ้มค่า สมกับราคาที่ดินที่มีราคาสูง ผังเมืองรวมกทม. เปิดให้พัฒนาได้เต็มที่ในระดับสูงสุดในอนาคตอันใกล้
“หากโครงการโผล่พ้นดินจะกลายเป็นเมืองที่สวยงามสร้างความเจริญ ให้กับพื้นที่ชุมชนรอบข้าง ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะจุดชนวนขยายการพัฒนาไปยังโซนรอบนอก”
“แลนด์” ยึดพระราม 3
ด้าน นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย จำกัด เผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปีนี้ และผู้พัฒนามีแผนเดินหน้าเปิดตัวอย่างน่าสนใจ คือ โครงการ Terminal 21 Harbour Rama 3 เพราะแม้ไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง แต่เป็นทำเลยุทธศาสตร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ดิน มากกว่า 2.4 หมื่นตารางเมตร มูลค่าราว 4,000 ล้านบาท โดย บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด หรือ LHMH ของ กลุ่มทุน แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของแผนพัฒนาบิ๊กโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่ยังคงเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิดนั้น มักเป็นโครงการของกลุ่มทุนขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น เนื่องจากมีสายป่านยาว รองรับความเสี่ยงได้ อีกทั้งจำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์บริษัท และความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย
ตลาดออฟฟิศทะลักปีนี้3แสนตร.ม.
สำหรับตลาดอาคารสำนักงาน ปีนี้มีพื้นที่กำหนดเปิดตัวแน่นอน ราว 3 แสน ตร.ม. จาก 12 โครงการ มีเพียง 5 โครงการ ที่เลื่อนการเปิดตัวออกไป ส่วนพื้นที่ค้าปลีก ราว 1.3 แสน ตร.ม. คงกำหนดการคงเดิม ขณะโปรเจ็กต์โรงแรมหลายแห่ง แจ้งชะลอการก่อสร้างออกไป เนื่องจากยังมีความกังวลจากสถานการณ์โควิด “จากแผนเปิดประเทศ 120 วัน ของนายกฯ กำหนดช่วงเดือน ต.ค.- พ.ย. นั้น ประเมินนักท่องเที่ยวเข้ามา ในอัตราน้อยมาก คงไม่มีผลเชิงบวกกับโครงการอสังหาฯที่จะเปิดตัว”
จับตารัชดาฯเดือด
สำหรับความคึกคักในพื้นที่กลางเมือง หลังจากกลุ่มเซ็นทรัลคว้าประมูล “โรงหนัง สกาล่า” เปิดแผนพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกนั้น คาดว่า กลุ่มทุ่นดังกล่าว คงเล็งเห็นถึงโอกาสในอนาคต ช่วง 3 ปีข้างหน้า หลังวิกฤติโควิดจบเสร็จ เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว เช่นเดียวกับ ความเคลื่อนไหวในทำเลทองอื่นๆ เช่น แปลงที่ดินรัชดาฯ ที่ล่าสุด AIA ซื้อ 8 ไร่ จาก กลุ่ม “สาธิต วิทยากร” ไปในราคา ถึง ตร.ว. ละ 1 ล้านบาท สะท้อนถึงมุมมองผู้พัฒนาว่า ยังเล็งเห็นถึงโอกาสการเติบโต ของการพัฒนาโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ต่างๆในใจกลางเมือง เพื่อรองรับดีมานด์ในหลายตลาดนั่นเอง