สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCUจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเขตพาณิชยกรรมสวนหลวง-สามย่าน 291ไร่ ระหว่างปี2561-2580 มีเป้าหมายเปลี่ยนตึกแถวเก่า ย่านปทุมวันเป็นเมืองอัจฉริยะเน้นพัฒนาเมืองให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะที่ดินตั้งอยู่กลางใจเมือง ท่ามกลางรถไฟฟ้าและตึกสูงรายรอบ
กว่า4,000คูหา ตึกแถวย่านค้าเก่าทั้งของคนจีน คนไทยเชื้อสายจีน ที่ขยายตัวมาจากเยาวราชทยอยทุบทิ้งพลิกโฉมเป็นมิกซ์ยูสตึกสูงใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยต่ออาคารรวมกันนับแสนตารางเมตรสร้างแลนด์มาร์คใหม่ ดึงคนเข้าพื้นที่อย่างสมาร์ทมิกซ์ยูสสามย่านมิตรทาวน์ 2.2แสนตารางเมตร ที่ผุดขึ้นแทนที่ย่านพาณิชย์แนวราบเก่าแก่เกือบ200 คูหา หัวมุมถนนพระราม4ตัดพญาไท ไม่ห่างกันมาก มีแผนรื้อตึกแถวสร้างมิกซ์ยูส หรือบล็อก29 พื้นที่รวม16ไร่
รายงานข่าวจากPMCU ระบุว่า หากตึกจะหมดสัญญาจะไม่ต่อใหม่หรือทำสัญญาปีต่อปี ไม่ทำสัญญายาวๆ10ปี15ปี20ปี30ปีเหมือนอดีต เพราะไม่คุ้มค่าบางกลุ่มอาจตกลงใจไม่ทำสัญญาต่อก็จะรื้อเพื่อรอพัฒนา
ขณะสามย่านเป็นทำเลที่มีความต้องการเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยจากที่เคยเห็นเป็นตึกแถวที่พักและร้านค้า ก็ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างคอนโดมิเนียม โครงการแนวตั้งรอรับคนได้มากกว่า ตึกแถว อย่างพื้นที่ระหว่าง อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ กับตลาดสามย่านถูกรื้อถอนออกไปจนเกลี้ยงโกร๋น เหลือแต่เพียง ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ศาลเจ้าที่มีประวัติเก่าแก่ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่อย่างเดียวดาย แม้ว่า จุฬาฯจะขอย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมเข้าไปอยู่ณอุทยาน100ปี เมื่อมีเงื่อนไขไม่ให้คนจุดธูปเทียนหรือมีคนเฝ้าศาล ชาวบ้านก็ไม่ยินยอม
สำหรับ พื้นที่รอบศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เป็นโครงการพัฒนาบล็อก33 ย่านที่พักอาศัยคอนโดมิเนียมเช่าระยะยาวกว่า800หน่วยและ หอพักนักศึกษา กว่า900หน่วย โดยกำหนดให้ย่านนี้เป็นย่านเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชน ด้วยทำเลใจกลางสามย่าน เชื่อมโยงพื้นที่จุฬาฯ โซนชุมชน โซนพาณิชย์ และปอดขนาดใหญ่อย่างอุทยาน 100 ปี เข้าด้วยกัน ขณะบล็อก34 พื้นที่ติดกัน เตรียมเปลียนโฉมทุบตึกแถวบางส่วนที่เหลือสร้างเมืองการแพทย์ครบวงจร ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นเอกชนและเสนอเงื่อนไข
แหล่งข่าวจากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเล่าว่า ได้ย้ายจากจุฬาฯซอย5 มาอยู่จุฬาฯซอย9และซอย14 ปัจจุบันบริเวณนี้มีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้น ขณะแปลงเดิมมีขนาดเล็กคับแคบแต่ มองว่าจุฬาฯต้องการนำที่ดินไปพัฒนารวมกับแปลงอื่น
ขณะเสียงสะท้อนจากคนอยู่อาศัยเดิม มองว่าการปรับปรุงและพัฒนาที่ดินจุฬาฯ อาจ ส่งผลเสียกับผู้ที่ยังอยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่เนื่องจากช่วงที่เริ่มไล่ผู้อยู่อาศัยออก มีการทุบตึก และปรับปรุงถนนหนทาง ส่งผลให้ย่านนี้เงียบเหงาลงคนที่ยังเช่าอยู่ก็ไม่สามารถจะค้าขายได้ตามปกติ
เชื่อว่า คนที่เคยอยู่เก่าแก่ ในย่านนี้ ลูกหลาน คนรุ่นใหม่คงหาที่อยู่ใหม่ไม่ย่านใกล้เคียงก็ออกไปนอกเมืองเสียเลย!!