นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ " กรมที่ดินกับนวัตกรรมการออกโฉนดที่ดิน" สัมมนารูปแบบ Virtual Seminar“โฉนดเพื่อชีวิต” เดินหน้าสร้างโอกาสเพิ่มหลักประกันเพื่อประชาชน เมื่อวันที่27ตุลาคม2564 ว่า ที่ผ่านมา กรมที่ดินได้ ริเริ่มนำเทคโนโลยี - นวัตกรรม เข้ามาช่วยในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ ปี 2563 ภายใต้วิสัยทัศน์ " ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง "
นวัตกรรมพลิกโฉมงานบริการกรมที่ดินอะไรบ้าง
ได้แก่ 1.ริเริ่มการนำแอปพลิเคชั่น e-QLands (นัดจดทะเบียนล่วงหน้า) ที่ผ่านมา ประชาชนที่ติดต่อธุรกรรมกับกรมที่ดิน มักเจอกับปัญหา คิวหนาแน่นและรอเป็นเวลานานเสียเวลา ค่าใช้จ่ายซึ่งแอปดังกล่าว เข้ามารองรับ การนัดหมายเวลาที่แน่ชัด สำหรับประชาชน ที่มีความจำเป็นต้องทำธุรกรรมในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยหลังจากมีการนำแอปe-QLands มาใช้งาน ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ จนถึง ปัจจุบัน สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากกว่า 108,600 ราย
" QLands ทำให้การติดต่อระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สะดวกสบายมากขึ้น ผ่านการเตรียมพร้อมด้านเวลา และเอกสารสำคัญ ทั้ง 2 ฝ่าย ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งช่วยลดทอนระยะเวลาทำนิติกรรมให้สั้นลง "
2. การนำ ระบบ LandsMaps (ค้นหารูปแปลงที่ดิน) มาปรับใช้ ผ่านการนำโฉนดที่ดินทั่วประเทศ 34.4 ล้านแปลง ย่อลงในแผนที่ภูมิศาสตร์ และใช้แพลตฟอร์ม Google ค้นหารูปแปลงที่ดิน ประชาชนชื่นชมอย่างมาก เฉลี่ยผู้ใช้งาน 21 ล้านครั้งต่อปี
" วันนี้ผู้ใช้งานเพียง แค่กรอกเลขโฉนดที่ดิน และเลขระวางของที่ดินตนเองลงไป ระบบจะแสดงรายละเอียดของแปลงที่ดินทุกประการ เช่น ที่ตั้ง ราคาประเมิน ราคาที่ดิน แม้กระทั่้งโซนนิ่งของผังเมือง ที่สำคัญ ระบบยังแสดงลึกไปถึง Street View หรือ แสดงสภาพแวดล้อมเสมือนของแปลงที่ดินดังกล่าวได้อีกด้วย "
3. SmartLands แอปเดียวจบของกรมที่ดิน ซึ่งจะรวบรวมสาระและความเคลื่อนไหวสำคัญของกรมที่ดิน เช่น ความรู้ที่เป็นประโยชน์ , ระบบนัดหมาย ,อัพเดทราคาประเมินที่ดิน ,การคำนวณภาษีอากร ,ที่ดินสาธารณะ , แผนผัง-แผนที่ ,ขั้นตอนการทำธุรกรรมกับกรมที่ดิน ,การค้นหาประเภทของที่ดิน ปัจจุบัน มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 2 แสนราย
"ภายใน แอปฯ SmartLands ยังมีแอปย่อยๆอีกเป็นจำนวนมาก เช่น สารานุกรมที่ดินรูปแบบอิเล็กทรนิกส์ รูปแบบคลิปวิดีโอให้ความรู้มากกว่า 160 เรื่อง เช่น ราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศโดยกรมธนาเป็นต้น "
4.ระบบ E-Lands Announcement การค้นหาประกาศของสำนักงานที่ดินแต่ละปีมีมากกว่า 4 แสนฉบับ 5.Line@ของกรมที่ดิน เพิ่มความสะดวกสบายในการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน 6.การคิดคำนวณภาษีและค่าอากร โดยเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อลบข้อครหา
ออกโฉนดยุคใหม่ 90 วันต้องแล้วเสร็จ
นายนิสิต ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมที่ดินได้มุ่งเน้นการพัฒนา มาตรฐานระบบรังวัดที่ดิน (การตรวจสอบขนาดของที่ดินที่ต้องการซื้อ-ขาย )เป้าหมายสูงสุด เพื่อนำไปสู่การออกโฉนดที่ดินที่ถูกต้อง รักษาสิทธิของเจ้าของที่ดิน ส่วนระยะจะถูกย่นอยู่ในกรอบไม่เกิน 50 วัน ตามนโยบายของพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบัน กรมที่ดินได้ใช้เครื่องมือ ซึ่งเป็นเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม (RTK GNSS Network) สามารถบอกพิกัดของที่ดินได้ชัดเจน ลดข้อพิพาท ไม่ก่อให้เกิดความล่าช้า สิ้นเปลืองในการระวังชี้แนวเขต อีกทั้ง ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในเอกสารสิทธิที่ดิน ผ่านการออกโฉนดที่ถูกต้อง และมีผลต่อศักยภาพการแข่งขันระดับประเทศอีกด้วย
" งานของกรมที่ดินมีความซับซ้อน เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายหลายฉบับ การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยให้ งานบริการของกรมที่ดิน ประชาชนเกิดความสะดวกสบาย ปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายได้มากยิ่งขึ้น "
ทั้งนี้กรมที่ดิน มีนโยบาย สั่งให้ สำนักงานที่ดิน จำนวน 461 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการประชาชนในการขอออกโฉนดที่ดิน ประเภทที่ดินปกติ (ไม่มีกรณีพิพาท) อยู่ในกรอบเวลา 90 วัน / 1 แปลง เพื่อตอบโจทย์ประชาชนที่ต้องการสิทธิครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากอดีตใช้เวลานาน 2 ปี
++ ปี 2565 โล๊ะโฉนดที่ดินใบปลิวกระดาษ
สำหรับระยะที่ 2 พัฒนานำนวัตกรรมบริการประชาชน โดยนำร่องในปี 2565 แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. กรมที่ดินเตรียมพัฒนาระบบ จดทะเบียนที่ดิน ผ่านออนไลน์รูปแบบต่างสำนักงานเป็นครั้งแรกของไทย พลิกโฉมการทำนิติกรรมทั่้วประเทศ ลดความยุ่งยาก ระยะแรก นำร่องในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร17สาขา เปลี่ยน "โฉนดที่ดิน" จากใบกระดาษ ไปสู่รูปแบบอิเล็กทรนิกส์ 2.เดินหน้าพัฒนาระบบ e - service ควบคู่กันไปหลังจากปัจจุบัน พบมีความต้องการของประชาชนในจำนวนมาก เช่น การขอเอกสารสำคัญ , ขอตรวจสอบราคาประเมินที่ดิน ,คำนวณหลักทรัพย์ อนาคต กรมที่ดิน จะยกบริการข้างต้น ไปอยู่ในรูปแบบ e - service โดยเจ้าหน้าที่จะส่งต่อเอกสารสำคัญผ่านระบบออนไลน์ (มือถือ) จ่ายค่าธรรมเนียมได้เบ็ดเสร็จ 3. การเดินหน้า ขยายผลต่อยอด ระบบ LandsMaps (ค้นหารูปแปลงที่ดิน) ไปสู่การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออนไลน์ ตามนโยบายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการผลักดันให้ กรมที่ดิน เป็นเจ้าภาพพลิกโฉมระบบอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ร่วมกับกรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และ กทม. วางระบบ การเสียภาษีรูปแบบออนไลน์ เช่น การจ่ายเงินผ่าน e payment (ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์) หากเป้าหมายสำเร็จในยุคหน้า การเสียภาษีที่ดิน จะทำได้บนมือถืออย่างเบ็ดเสร็จ
4. การพัฒนา ระบบ condo map สำหรับห้องชุด (คอนโดมิเนียม)หลังจากปัจจุบัน แต่ละห้องพักในคอนโดมิเนียม จะมีโฉนดปลีกย่อย จำนวนมากต่อไป จะพัฒนารูปแบบ โฉนด 3 มิติ ซอยย่อยแต่ละช่วงชั้นของโครงการ ไม่ต่างจากแปลงที่ดิน ซึ่งระบบนี้ จะเอื้อต่อการทำธุรกรรมการซื้อ-ขาย เกิดความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
และ 5. การพัฒนาระบบ นัดรังวัดและเสียภาษีรังวัดทางออนไลน์ โดยสามารถนัดหมาย จ่ายค่าธรรมเนียมผ่านมือถือได้
กรมที่ดิน เดินหน้านำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการประชาชนให้เห็นเป็นรูปธรรม เพิ่มความสะดวกสบาย ลดค่าใช้จ่าย อีกทั้ง ด้วยสถานการณ์โควิด-19 การย่อระบบมาสู่ออนไลน์ ก่อให้เกิดความปลอดภัยในการติดต่อสื่อสารในยุคนิวนอร์มอลได้อย่างแท้จริง