หลังทำหน้าที่ให้บริการรับส่งผู้โดยสารมานาน105ปี ถึงเวลาที่ สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือหัวลำโพง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีอันต้องยุติบทบาทลง ภายในปลายปี 2564พร้อม ส่งไม้ต่อล่องขบวนรถเข้าสู่สถานีกลางกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางทางรางแห่งใหม่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียนส่งผลให้ สถานีประวัติศาสตร์เหลือไว้เพียงสัญลักษณ์ กับความทรงจำอย่างโถงหัวลำโพง อาคารบริหารตลอดจนหมุดร.5 ส่วนพื้นที่โดยรอบ120ไร่ มีเป้าหมายแปลงโฉมให้เป็นเมืองมิกซ์ยูสทันสมัยกลางใจเมือง มีอาณาบริเวณครอบคลุมทิศเหนือ จรดคลองมหานาค ทิศใต้ จรดถนนพระราม 4 ทิศตะวันออก จรดถนนรองเมือง ทิศใต้ จรดคลองผดุงกรุงเกษม
สถานีหัวลำโพง เริ่มก่อสร้างในปี 2453 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และ เปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการ วันที่ 25มิถุนายน 2459 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จ ทรงกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกแล่นเข้าสู่สถานี
การก่อสร้างออกแบบโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม โดมสไตล์อิตาเลียน ผสมผสานศิลปะยุคเรอเนสซองคล้ายรถไฟเมืองแฟรงค์เฟิร์ตในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน อีกทั้งวัสดุ สำเร็จรูป ลวดลายประดับแทรกไว้เป็นศิลปะในการก่อสร้างอันวิจิตร วิจิตรสวยงามมาก บันไดและเสาอาคารบริเวณทางขึ้นที่ทำการกองโดยสาร หรือโรงแรมราชธานีเดิมเป็นหินอ่อน
โดยเฉพาะเพดานเป็นไม้สักสลักลายนูน ซึ่งหาดูได้ยาก จุดเด่นของสถานีกรุงเทพอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ติดตั้งไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคารเช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่เท่า กับตัวสถานี ติดตั้งไว้กึ่งกลางยอดโดมสถานี เป็นนาฬิกาที่สั่งทำพิเศษเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ควบคุมด้วยไฟฟ้าระบบดี.ซี.จากห้องชุมสายเป็นเครื่องบอกเวลาแก่ผู้สัญจรผ่านไป-มา และผู้ใช้บริการที่สถานีกรุงเทพจนถึงปัจจุบัน
บริเวณด้านหน้าสถานีมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชนนั่งพักผ่อน ข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์เป็นมูลค่า 9,150บาท จัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอนุสาวรีย์ที่ว่านี้เป็นรูปมีพระบรมฉายาลักษณ์ด้านข้างแบบลายนูนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่สถานีกรุงเทพใช้เป็นที่รับ-ส่ง ทั้งผู้โดยสารและสินค้า
หาก ยืนอยู่บริเวณด้านหน้าสถานีและหันหน้าเข้าสู่สถานีหลังคารูปครึ่งวงกลมจะเป็นส่วนให้บริการแก่ผู้โดยสาร พื้นที่ด้านขวามือเป็นที่ตั้งของโรงแรมราชธานี ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นที่ทำการกองโดยสาร และด้านซ้ายมือจะเป็นที่ทำการรับ-ส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดจอดรถแท๊กซี่ฯลฯ
สถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพงกลายเป็นสถานีเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมีขบวนรถเข้า-ออก ประมาณ 200 ขบวน มีผู้โดยสารเดินทางเข้านับหมื่นคนโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา ตรุษจีนจะมีผู้คนหลั่งไหลมาใช้บริการบริเวณสถานีแห่งนี้นับแสนคนจนสถานที่อันกว้างขวางโอ่โถงของสถานีแห่งนี้ดูคับแคบลงไปเลยทีเดียว แต่นับนี้คงเหลือไว้แต่ความทรงจำเท่านั้น