8 ธ.ค.2564 - นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินและความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ทำให้ต้องวางแผนการเงินอย่างรัดกุมในระยะยาว
ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ DDproperty’s Thailand ConsumerSentiment Study รอบล่าสุด พบว่า เกือบ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวไทย (71%) ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยแต่เลือกที่จะชะลอการซื้อออกไปก่อน โดย 39% วางแผนจะซื้อบ้านภายใน 1-2ปี
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเผยว่าอุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัยมาจากการขาดรายได้ในช่วงโควิด-19 ถึง 66% รองลงมาคือราคาที่อยู่อาศัย (63%) ตามมาด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองและธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อบ้านในสัดส่วนเท่ากัน (37%)
สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาทางการเงินยังคงเป็นอุปสรรคอันดับต้น ๆ ของคนหาบ้าน
นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ (80%)มองว่ารัฐบาลยังไม่ค่อยมีส่วนช่วยที่จะทำให้คนในประเทศสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้โดยมาตรการเยียวยาภาคอสังหาฯ ที่ต้องการมากที่สุดจากภาครัฐ คือการลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านทั้งบ้านใหม่และบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ (57%)เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเองท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
ถอดบทเรียน ‘โอกาส - ความท้าทาย’ ของอสังหาฯ ปี 64
ภาพรวมการเติบโตของภาคอสังหาฯ ที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ
ส่วนใหญ่ชะลอการเปิดโครงการใหม่ออกไปก่อน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมและหันมาเน้นระบายสต็อกคงค้างผ่านสงครามราคาเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในช่วงนี้แทนจึงทำให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในปี 2564 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในภาพรวมยังคงปรับตัวลดลงถึง 11%จากรอบปีก่อน
นอกจากนี้จำนวนอุปทานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอุปทานคงค้างในตลาดบวกกับอัตราการดูดซับที่ลดลง อย่างไรก็ดีแนวโน้มอุปทานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีความต้องการในตลาดสูงโดยบ้านเดี่ยวมีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้น 33% จากปีก่อนหน้า ทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 30% ส่วนคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 11%
นอกจากเทรนด์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะได้รับความนิยมจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปแล้ว
เทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยยังกระจายออกไปในทำเลนอกเขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ (City Fringe)และแถบชานเมือง (Outskirts) มากขึ้น เนื่องจากเป็นทำเลที่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบในราคาที่เอื้อมได้ ประกอบกับปัจจัยบวกจากการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อการเดินทางสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกขึ้น
ข้อมูลจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี2564 ถือเป็นสัญญาณบวกที่ทุกภาคส่วนเฝ้ารอ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะฟื้นตัวโดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดท่องเที่ยวในประเทศที่ทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมของภาครัฐ และการระดมฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ตลาดแรงงานและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามไปด้วย