20 ธ.ค.2564 - นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย เปิดเผยถึงตลาดพื้นที่ค้าปลีกในปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้พัฒนารายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกยังคงมองหาโอกาสการพัฒนาและการขยายธุรกิจทั้งในพื้นที่ใจกลางเมืองและพื้นที่โดยรอบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พื้นที่ค้าปลีกที่เปิดบริการใหม่ในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากการปิดปรับปรุงพื้นที่ในช่วงก่อนหน้าและกลับมาเปิดตัวอีกครั้งหลังจากการปรับปรุงพื้นที่แล้วเสร็จสมบูรณ์
ซึ่งในปีพ.ศ. 2565 พบว่า จะมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบเปิดตัวใหม่ทั้งในพื้นที่ใจกลางเมืองและริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นการพัฒนาของผู้พัฒนารายใหญ่ตลาด
แม้ว่าจะมีผู้เช่าบางรายที่ขอคืนพื้นที่เช่า แต่พบว่ามีผู้เช่ารายใหญ่ที่เป็นแบรนด์สินค้าของต่างประเทศทั้งที่ขายสินค้าอุปโภคและบริโภคยังคงมองหาพื้นที่เช่าเพิ่มเติมเพื่อการขยายสาขา ทั้งในส่วนของร้านอาหารชื่อดังหรือแม้กระทั้งแบรนด์เสื้อผ้า ซึ่งเรายังคงเห็นภาพของการเปิดสาขาหรือเปิดร้านของแบรนด์ต่างๆ เหล่านี้ต่อเนื่องในช่วง ที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่เช่าที่เคยว่างลงมีผู้เช่ารายใหม่เข้ามาแทนทีในระยะเวลาอันรวดเร็ว แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะยังคงอยู่ในภาวะที่น่ากังวล
จากปัจจัยบวกในเรื่องของการประกาศเปิดประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี อาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับตลาดพื้นที่ค้าปลีกในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้งในปีหน้า แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญและมีผลต่อธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในอนาคตซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายให้ผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกต้องปรับตัว ผู้พัฒนารายใหญ่ยังคงใช้ช่วงเวลานี้ในการปรับปรุงพื้นที่ให้ทันสมัยเพื่อสำหรับการรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคของชีวิตวิถีใหม่
ซึ่งผู้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกมีความจำเป็นต้องปรับการดำเนินธุรกิจใหม่ตั้งแต่ การปรับองค์กรให้อยู่รอด การปรับบิสสิเนสโมเดลใหม่เน้นความแตกต่าง การเข้ายุคดิจิทัลมุ่งสู่ออมนิ ชาแนล มีการทำตลาดแบบหลายช่องทางสอดรับพฤติกรรมลูกค้าที่หลากหลายในการใช้ช่องทางซื้อ แม้ขณะนี้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในเรื่องการจับจ่ายมากขึ้น แต่ก็ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ ผู้บริโภคยินดีใช้จ่ายในด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยมากขึ้น พร้อมทั้งมองหาประสบการณ์ที่จะช่วยเชื่อมต่อโลกเสมือนจริงกับโลกที่เป็นอยู่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปีพ.ศ. 2564 พบว่า อุปทานสะสมพื้นที่ค้าปลีกโดยรวมในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบปรับตัวมาอยู่ที่ 9,121,521 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 184,502 ตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 2.07 จากปีก่อนหน้า และพบว่ามีพื้นที่ค้าปลีกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565 อีกประมาณ 174,124 ตารางเมตร และในปี พ.ศ. 2566 อีกประมาณ 147,308 ตารางเมตร ซึ่งอุปทานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจาการรีโนเวทและปรับเพิ่มขนาดพื้นที่เช่าให้ทันสมัยและตอบสนองต่อความต้องการของกำลังซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป