รฟม.โต้ “รสนา” ออกแบบสถานีผ่านฟ้า รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ กลมกลืนพื้นที่เมืองเก่า

08 ม.ค. 2565 | 12:09 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2565 | 19:07 น.

รฟม.ออกโรงโต้ “รสนา โตสิตระกูล” ถึงการออกแบบทางขึ้น – ลง สถานีผ่านฟ้า รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ ยันเวนคืนกระทบประชาชนน้อย เน้นความปลอดภัยและกลมกลืนกับเมืองเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน

กรณีที่นางสาว รสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ระบุถึงกรณีอาคารเก่าแนวถนนพระสุเมรุอายุกว่า 80 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารบนเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะถูกใช้เป็นทางขึ้น - ลง สถานีผ่านฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) นั้น 

 

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการออกแบบทางขึ้น – ลง สถานี ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงความกลมกลืนและสอดคล้องตามบริบทของเมืองเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน รวมทั้งให้มีผลกระทบต่อประชาชนและมีการเวนคืนให้น้อยที่สุด 

รฟม.โต้ “รสนา” ออกแบบสถานีผ่านฟ้า รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ กลมกลืนพื้นที่เมืองเก่า

ขณะเดียวกัน รฟม. ตระหนักถึงความสำคัญในการออกแบบโครงการรถไฟฟ้าทุกสายที่อยู่ภายใต้การกำกับของ รฟม. ที่ส่งผลต่อชุมชน วิถีชีวิตดั้งเดิม ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเอกลักษณ์ของพื้นที่ ที่มีเส้นทางของรถไฟฟ้าพาดผ่าน รวมถึงให้ความสำคัญต่อการออกแบบเชิงอนุรักษ์เป็นอันดับต้นๆ โดย รฟม. ได้ออกแบบอาคารทางขึ้น - ลง ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นถิ่น และประวัติศาสตร์ดั้งเดิม เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมในการรักษาให้ดำรงอยู่ซึ่งรูปแบบเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม  การมีส่วนร่วม และวิถีชุมชนอย่างเคารพ ทั้งในพื้นที่ประวัติศาสตร์ และพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะมาโดยตลอด 

รายงานจาก รฟม.กล่าวต่อว่า ในการกำหนดทางขึ้น – ลง สถานีที่มีจำนวน 4 ตำแหน่งนั้น เป็นการออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน หากต้องอพยพผู้โดยสารจากภายในสถานี ซึ่งอ้างอิงตามมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย (NFPA 130) และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

 

ส่วนการออกแบบสถานีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ มีการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ดังนั้นในขั้นตอนดำเนินการการออกแบบ รฟม. ได้มีการประสานงานขอความเห็นชอบผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ชุดต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร เป็นต้น 

 

ทั้งนี้จากผลการพิจารณาดังกล่าว ได้ถูกกำหนดเป็นมาตรการในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นอกจากนี้ ในการขอใช้พื้นที่ของหน่วยงาน หน่วยราชการต่างๆ รฟม.ได้มีการประสานทำความเข้าใจถึงความจำเป็นของการใช้พื้นที่ รวมถึงมีการประสานงาน หารือถึงแนวทางเพื่อลดผลกระทบต่อทุกฝ่ายจนได้ข้อสรุปร่วมกัน 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวมประมาณ 23.6 กิโลเมตร แบ่งเป็นระยะทางใต้ดินประมาณ 13.6 กิโลเมตร และระยะทางยกระดับประมาณ 10 กิโลเมตร ประกอบด้วย สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี ส่วนสถานีที่นางสาวรสนาฯ กล่าวถึงนั้น คือ สถานีผ่านฟ้า ซึ่งมีลักษณะเป็นสถานีใต้ดิน ตั้งอยู่บริเวณถนนพระสุเมรุ ใกล้กับแยกผ่านฟ้า โดยในการออกแบบได้กำหนดให้มีทางขึ้น - ลง จำนวน 4 ตำแหน่ง ได้แก่ 

 

  1. ทางขึ้น – ลง หมายเลข 1 อยู่บริเวณตึกแถว 2 ชั้น ใกล้กับกลุ่มงานตกแต่ง สำนักงานก่อสร้าง และบูรณะ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร
  2. ทางขึ้น – ลง หมายเลข 2 บริเวณที่จอดรถหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง
  3. ทางขึ้น - ลง หมายเลข 3 บริเวณอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ติดกับอาคารเทเวศร์ประกันภัย และเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – มีนบุรี
  4. ทางขึ้น – ลง หมายเลข 4 บริเวณหน้าบ้านพักอาศัย บริเวณถนนพระสุเมรุ