กรณี เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 นายสมพงษ์ ลิสนเทียะ และนางอารมย์ คำจริง พร้อมผู้แทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบ โดยขอให้เร่งตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ประกาศผังเมืองให้เป็นป่าอนุรักษ์
ทับลงไปบนที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนจำนวนมาก โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อันจะส่งผลทำให้ที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนกลับไปเป็นที่ดินของรัฐ และง่ายแก่การอนุญาตให้บริษัทฯ สามารถขอใช้ที่ดินจากรัฐในการทำเหมืองทองคำ บริเวณ อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก นั้น
สำหรับประเด็นข่าวที่นำเสนอ กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอชี้แจงว่า
1. กรมฯ กำลังดำเนินการปรับปรุงผังเมืองรวมชุมชนเนินมะปราง โดยเป็นการขยายเขตเต็มทั้งอำเภอเนินมะปราง
2. พื้นที่บริเวณที่มีประเด็นถูกกำหนดให้เป็น การใช้ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว) ซึ่งเป็นการกำหนดตามข้อมูลของกรมป่าไม้ (ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย) และตามข้อกำหนดการใช้ที่ดินประเภทดังกล่าวมีข้อยกเว้นให้ที่ดินเอกชนที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองสามารถอยู่อาศัยได้
3. สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิษณุโลกได้ดําเนินการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนเนินมะปราง (ปรับปรุงครั้งที่ 1) จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 23 - 24 มีนาคม 2565
โดยได้ชี้แจงให้แก่กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย) ทราบว่าบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้บริเวณพิพาทนั้น เป็นบริเวณที่กำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้ายปรากฏตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 167 (พ.ศ.2509)
ในส่วนของที่ดินทำกินของชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ์ ให้ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัยที่ มิใช่การจัดสรรที่ดิน และกิจการอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลก มิได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทฯ หรือกลุ่มผลประโยชน์แต่อย่างใด
4. อย่างไรก็ตามกรมฯ จะได้นำข้อมูลที่ได้รับจากพี่น้องประชาชนไปตรวจสอบข้อกฎหมายกับกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป