10 เมษายน 2565 - นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง บริษัท เอสซีจี เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้คนมีความต้องการ และ ใกล้ชิด กับเทคโนโลยี - นวัตกรรมมากขึ้น ยิ่งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายองค์กรต่างเลือกใช้การทำงานแบบไฮบริด หรือเน้นการทำงานแบบ Work from Home มากขึ้น ส่งผลโดยตรงกับการเพิ่มปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและไลฟ์สไตล์ หรือหาโซลูชันเพื่อลดค่าใช้จ่ายและประหยัดการใช้พลังงาน
ทั้งนี้ บริษัทในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมระบบหลังคาโซลาร์ สำหรับกลุ่มงานบ้านและที่อยู่อาศัย จึงเตรียมนำจุดแข็ง ด้านเทคโนโลยีมาผสาน เข้ากับการสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การเป็นโซลูชันพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูง พัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่ มาเพิ่มความสามารถในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้ในช่วงเวลากลางคืน ภายใต้ “SCG Solar Roof ระบบ Hybrid” รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการดำเนินการขออนุญาตให้ลูกค้ารวดเร็วมากขึ้น โดยคาดว่า ตลาดหลังคาโซลาร์ที่เติบโตเร็วมาก จะส่งผลให้ บริษัทมียอดขายเติบโตขึ้นถึง 300% ในปีนี้
" บริษัทวางเป้าลูกค้า แบ่งเป็นกลุ่ม B2B (SME) 70% เช่น กลุ่มธุรกิจ ,ภาคอุตสาหกรรม, ผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย อาทิ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค , แลนด์แอนด์เฮ้าส์ , เอสซี แอสเสท และ พฤกษา ขณะกลุ่ม B2C ลูกค้าทั่วไป 30% หวังตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้าน Residential Solar Market อย่างเต็มรูปแบบ"
ทั้งนี้ “SCG Solar Roof เป็นการทำงานระบบ Hybrid” ผสานข้อดีของระบบ On grid ที่ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงเวลากลางวัน ผสานเข้ากับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่จะกักเก็บไฟฟ้าเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ ในช่วงเวลากลางคืน ทำให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้ฟรีๆ ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน และสามารถเป็นระบบไฟฉุกเฉินสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญของบ้านได้ คาดจะช่วยเพิ่มยอดขายในกลุ่มหลังคาโซลาร์ หรือคิดสัดส่วนที่ 20% ของกลุ่มบ้านพักอาศัย ได้อย่างแน่นอน
ขณะ นายธงชัย โสภณ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจหลังคา บริษัท เอสซีจี รูฟฟิ่ง จำกัด ระบุว่า ภาพรวมการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะ การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (รูฟท็อป) มีศักยภาพเติบโตสูงมากในตลาดโลก มาร์เก็ตแชร์สูงสุดตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันพุ่งสูงขึ้น การติดตั้งแผงโซลาร์ฯ จึงกลายเป็นความจำเป็นของภาคครัวเรือน เพราะคุ้มค่าประหยัดค่าไฟได้สูงสุดถึง 60% นอกจากนี้ ราคาแผงโซลาร์ในปัจจุบันลดลงถึงจุดที่คุ้มค่าในการลงทุน ทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้นในบ้านเรือน ต่างจาก 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการผลิตไฟจากโซลาร์ฯ จะได้รับความนิยมแค่ในภาคอุตสาหกรรม - โรงงานเท่านั้น
''ปัจจุบันราคาติดตั้งโซลาร์ถูกลงมาก ครัวเรือนเข้าถึงได้ง่าย คาดอนาคตจะเป็นตัวเลือกของทุกบ้าน ขณะ 3-5 ปีข้างหน้า นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จะทำให้การผลิตไฟช่วงกลางวัน และเก็บสำรองในแบตเตอรี่ใช้ในกลางคืนได้ยาวนานยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้คุ้มค่าน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม หากรัฐและเอกชน ช่วยกันสนับสนุน จะทำให้เทรนด์นี้เกิดได้เร็วขึ้น "
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบโครงการผลักดันของภาครัฐ ในการสนับสนุนติดตั้งโซลาร์ในภาคครัวเรือน พบล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุ โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ปี 2565 เตรียมเปิดให้ประชาชนยื่นความจำนงค์ ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป โดยกำหนดเป้าหมายปริมาณรับซื้อรวม 100 เมกกะวัตต์ แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 30 เมกกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 70 เมกกะวัตต์ โดย กฟน.ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ สำหรับพื้นที่ดำเนินการของ กฟภ.ประกอบด้วย 74 จังหวัด ที่อยู่นอกเหนือจากพื้นที่ดำเนินการของ กฟน.เพื่อหวังส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งแผงเซลล์อาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง สามารถขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้เข้าสู่ระบบการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้