26 เมษายน 2566 - แม้ผู้บริโภคจะเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในยุคโควิด-19 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลจากการแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนานส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กระทบต่อภาคธุรกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างหนักหน่วง
ข้อมูลจากรายงาน “Southeast Asia Rising from the Pandemic” ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ในปี 2564 ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4.7 ล้านคนอยู่ในระดับความยากจนขั้นรุนแรง นอกจากนี้ยังคาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในปี 2565 จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ลดลง 0.8% เช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าปีนี้ยังคงต้องจับตามองสภาพคล่องและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดต่อไป
เจาะ 5 ประเทศอาเซียน ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น
ตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงแรก ทำให้ผู้ประกอบการต่างงัดกลยุทธ์มาใช้เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดและกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่ต้องการมีบ้านอย่างต่อเนื่อง ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในไทย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study
ขณะแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคในอาเซียนรอบล่าสุด (ประกอบด้วยประเทศสิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม) จากเว็บไซต์ในเครือ PropertyGuru Group (พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาริมทรัพย์โดยรวมของทั้งภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564
" สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคสามารถปรับตัวให้พร้อมอยู่ร่วมกับโควิด-19 เพื่อดำเนินชีวิตต่อไปให้เหมือนปกติได้และมีความมั่นใจในการซื้อที่อยู่อาศัยอีกครั้ง โดยคะแนนดัชนีความเชื่อมั่นของชาวอินโดนีเซียอยู่ที่ 57% ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยของชาวสิงคโปร์อยู่ที่ 51% ชาวเวียดนามอยู่ที่ 47% ด้านชาวมาเลเซียอยู่ที่ 46% ขณะที่ชาวไทยอยู่ที่ 45% ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศในตลาดอาเซียน "
อสังหาฯผันผวนต่ำ คนตั้งใจซื้อบ้านเพิ่ม
ขณะเดียวกันอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นทรัพย์สินที่มีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบอื่น แม้ผู้บริโภคไม่ได้อยู่อาศัยเองแต่มองถึงโอกาสต่อยอดลงทุนในระยะยาว จึงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้ดัชนีความเชื่อมั่นที่อยู่อาศัยรอบล่าสุดนี้เติบโตเช่นกัน เห็นได้ชัดจากการที่ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคในประเทศมาเลเซีย (77%), อินโดนีเซีย (77%), เวียดนาม (77%) และไทย (78%) เผยว่า ตั้งใจจะซื้อบ้านใหม่เพิ่มโดยที่ยังเก็บบ้านเดิมเอาไว้
ขณะที่สิงคโปร์มีเพียงแค่ 46% เนื่องจากมากกว่าครึ่งวางแผนจะขายบ้านเดิมก่อนที่จะซื้อบ้านใหม่ โดยเหตุผลสำคัญในการซื้อบ้านเพิ่มนั้นผู้บริโภคชาวมาเลเซีย (53%) ชาวอินโดนีเซีย (66%) และชาวสิงคโปร์ (63%) มองที่การลงทุนเป็นหลัก ด้านชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการซื้อให้บุตรหลาน (54%) ขณะที่เหตุผลชาวไทยซื้อบ้านใหม่เพื่อตั้งใจเก็บไว้อยู่ตอนเกษียณ (31%)
เมื่อโควิดตั้งอยู่และยังไม่ดับไป ส่งผลกระทบอย่างไรต่อคนหาบ้านอาเซียน
ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยล่าสุดใน 5 ตลาดหลักของอาเซียน เผยให้เห็นมุมมองและความต้องการที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคหลังเผชิญการแพร่ระบาดฯ มาอย่างยาวนาน ตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจึงไม่ใช่แค่ราคาอีกต่อไป แต่คนหาบ้านยังมองเรื่องสุขภาพและความสะดวกในการใช้ชีวิตเป็นหลักด้วย
หลังจากปรับตัวอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนาน ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่เผยว่าเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่ต้องการในอนาคตแม้จะไม่มีการแพร่ระบาดฯ แล้วคือ การมีบ้าน/คอนโดฯ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (42%) เนื่องจากต้องการพื้นที่ใช้สอยที่รองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่บ้านของสมาชิกในครอบครัว และมากกว่าครึ่งของชาวสิงคโปร์ (55%) คาดว่าราคาอสังหาฯ จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง