นายอรรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำเสียของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากชุมชน ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนทั่วประเทศมีเพียง 118 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 2.978 ล้าน ลบ.ม./วัน ประเทศไทยมี อปท. ทั้งหมด 7,774 แห่ง ที่มีระบบบำบัดน้ำเสียเพียง 91 อปท. คิดเป็นร้อยละ 1.17
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบำบัดน้ำเสียจากต้นทาง ทส.โดย คพ. ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ให้กับผู้บริหาร พนักงานการเคหะแห่งชาติ นิติบุคคล ชุมชนการเคหะและกรรมการชุมชนการเคหะทั่วประเทศ ประมาณ 200 คน
ภายใต้โครงการ อบรมการเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ในการบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด
นายอรรถพล กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีคุณภาพชีวิตที่ดี รัฐบาลให้ความสำคัญทั้งด้านความเป็นอยู่และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี โครงการของการเคหะแห่งชาติ โดยประมาณจำนวน 807 โครงการ เป็นที่อยู่อาศัยและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดรวมจำนวน 746,439 หน่วย
สำหรับโครงการเคหะชุมชน/บริการชุมชน/ฟื้นฟูเมือง/อาคารเช่า/เอื้ออาทร/พิเศษ บริการชุมชน มีจำนวนรวม 458,290 หน่วย (ผู้อาศัย 3-4 คน/หน่วย) (ที่มา รายงานผลการจัดสร้างที่อยู่อาศัยและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดตั้งแต่ปี 2519-2564 (กันยายน 2564) กองติดตามและประเมินผล ฝ่ายนโยบายเเละแผน)
อาคารที่อยู่อาศัยภายใต้การกำกับดูแลของการเคหะแห่งชาติจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ 2535 ทั้งการบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้ง
จากอาคารบางประเภทและบางขนาดและการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและแบบการเก็บสถิติและข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียด และรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2555 ออกตามความในมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
การอบรมจัดโดยการเคหะแห่งชาติ มีหัวข้อการอบรม ประกอบด้วย 1) มาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด และแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด 2) แนวทางการเก็บสถิติและข้อมูลซึ่งแสดงผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละวัน ตามแบบ ทส. 1 และการจัดทำรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละเดือนตามแบบ ทส.2
ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและแบบการเก็บสถิติและข้อมูลการจัดทำ บันทึกรายละเอียดและรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2535 3) ขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษในการตรวจและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคาร และ 4) บทลงโทษและการดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ คพ.จะติดตามติดตามตรวจสอบและให้คำแนะนำต่อไป นายอรรถพล กล่าว