7 มิถุนายน 2565 - แผนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งผ่ากลาง ตัดผ่านที่ตั้งของตึกแถวบริเวณถนนพระสุเมรุ เชื่อมต่อ มายังถนนผ่านฟ้าลีลาศ ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวของภาคประชาชนและกลุ่มอนุรักษ์
ล่าสุด นางรสนา โตสิตระกูล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง โดยฝากให้ผู้ว่า กทม. ช่วยดูแลอาคารเก่าที่รฟม.จะรื้อเพื่อเป็นทางขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง ตามใจความดังนี้ ...
ดิฉันเคยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรเรื่องอาคารเก่า7คูหาบนถนนพระสุเมรุที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)มีโครงการจะรื้ออาคารเก่าชุดนี้เป็นทางขึ้นลงที่1 ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-สำราญราษฎร์
โดยที่อาคารเก่าชุดนี้อยู่บนถนนพระสุเมรุตอนปลายมีทั้งหมด14 คูหา และถูกคั่นด้วยซอยเล็กๆ อาคารทั้ง14คูหาเป็นอาคารของเอกชนที่อยู่ในรายการที่กรมศิลปากรจะขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามกฎหมาย และอธิบดีกรมศิลปากรได้ทำหนังสือแจ้งทาง รฟม.ว่าดิฉันได้ร้องเรียนให้หลีกเลี่ยงที่จะรื้ออาคาร7 คูหาเพื่อใช้พื้นที่อาคารดังกล่าวเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าที่1 (Entrance 1) บนถนนพระสุเมรุ
อธิบดีกรมศิลปากรได้ตอบหนังสือดิฉันว่าเคยมีหนังสือแจ้งให้รฟม.หลีกเลี่ยงการรื้อทำลายอาคารดังกล่าวแล้วตั้งแต่ 18 พฤศจิกายน 2559 ว่าในพื้นที่รัศมี 1กิโลเมตร ที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่านนั้นมีโบราณสถาน 310 รายการ ซึ่งหนึ่งในรายการนั้นคืออาคาร 14 คูหาบนถนนพระสุเมรุ ดังกล่าวอยู่ในรายการด้วย
ทางกรมศิลปากรได้มีหนังสือถึงรฟม.อีกครั้งลงวันที่ 9 มีนาคม 2565 โดยอ้างถึงหนังสือของดิฉันว่าขอให้กรมศิลปากรตรวจสอบสถานะของอาคาร14 คูหาดังกล่าวว่าเป็นโบราณสถานหรือไม่ และขอให้แจ้งต่อรฟม.เพื่อหลีกเลี่ยงการรื้อทำลายอาคาร 7คูหาเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้า โดยหนังสือของอธิบดีกรมศิลปากรถึง รฟม.ได้แจ้งให้ทราบอีกครั้งว่าอาคาร14 คูหานั้นเป็นโบราณสถานตามกฎหมาย และขอให้รฟม.หลีกเลี่ยงการรื้อทำลายอาคารดังกล่าวเป็นทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า และขอให้ประสานกรมศิลปากรหารือเพื่อหลีกเลี่ยงการรื้อทำลายอาคารโบราณสถาน และ/หรือกำหนดมาตราการลดผลกระทบต่อโบราณสถานเสนอกรมศิลปากรต่อไปนั้น
ต่อมาดิฉันได้ทราบว่าทางรฟม.ยังคงเดินหน้าต่อไปที่จะใช้พื้นที่นี้เป็นทางขึ้นรถไฟฟ้า โดยได้ติดต่อผู้เช่าอาคารเป็นรายๆมาเจรจาเพื่อให้ย้ายออกไป ทั้งที่การหลีกเลี่ยงรื้ออาคารเก่าชุดนี้สามารถทำได้ เพราะถนนพระสุเมรุเป็นถนนแคบ ไม่มีผู้คนสัญจรคับคั่ง ไม่มีความจำเป็นต้องทำทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าถึง4 ทาง สมควรลดลงเหลือ2 ทางได้ด้วยซ้ำไป จะเป็นการประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างและไม่ทำลายอาคารสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในเกาะรัตนโกสินทร์